พายุขนุนเข้าไทยหรือยัง? กรมอุตุฯตอบแล้วทำฝนตกหนักไหม!
อัปเดตเส้นทางพายุขนุน เข้าไทยหรือยัง กรมอุตุฯตอบแล้วส่งผลกระทบทำฝนตกหนักเพิ่มหรือไม่?
วันนี้ ( 30 ก.ค. 66 )กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศ พร้อมอัปเดตเส้นทาง ‘พายุขนุน’ โซนร้อนกำลังแรง โดย พายุนี้ยังมีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) คาดว่าจะแรงขึ้นได้อีก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ไม่ได้มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จีงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยแต่ประการใด
**พายุขนุน หมายถึง ขนุน ( Khanun) เป็นชื่อผลไม้ชนิดหนึ่งของไทย ตั้งชื่อโดยประเทศไทย เป็นพายุลูกที่ 6 จากการนับจำนวนพายุของ RSMC ของโตเกียว**
ภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพจากกรมอุตุนิยมวิทยา
อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 2 โดยมีผลกระทบตึ้งแต่วันที่ 30 ก.ค. - 3 ส.ค. 2566
ทั้งนี้สาเหตุไม่ได้มาจาก พายุขนุน แต่มาจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
กรมอุตุนิยมวิทยาจึง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมี ‘ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง’ มีดังนี้
30 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี และ ราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
31 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี และ ราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
1-3 สิงหาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่
ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 3 ส.ค. 66
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา
ภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา