TNN พายุลูกใหม่! จับตาหย่อมความกดอากาศต่ำ แนวโน้มเป็น พายุโซนร้อน/พายุหมุนฤดูร้อน

TNN

Earth

พายุลูกใหม่! จับตาหย่อมความกดอากาศต่ำ แนวโน้มเป็น พายุโซนร้อน/พายุหมุนฤดูร้อน

พายุลูกใหม่! จับตาหย่อมความกดอากาศต่ำ แนวโน้มเป็น พายุโซนร้อน/พายุหมุนฤดูร้อน

กอนช. จับตา "พายุลูกใหม่" มีแนวโน้มว่าอาจจะพัฒนากำลังแรงขึ้นเป็น "พายุโซนร้อน" หรือ "พายุหมุนฤดูร้อน" ลักษณะคล้ายกับพายุตาลิม

กอนช. จับตา "พายุลูกใหม่" มีแนวโน้มว่าอาจจะพัฒนากำลังแรงขึ้นเป็น "พายุโซนร้อน" หรือ "พายุหมุนฤดูร้อน" ลักษณะคล้ายกับพายุตาลิม

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช. ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของพายุตาลิม ร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ 


โดยพื้นที่ที่มีฝนมาก คือ บริเวณชายขอบของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือฝั่งตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ตอนบนและฝั่งตะวันตก ซึ่งส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ เช่น จ.ระนอง จ.ชุมพร ฯลฯ รวมถึงเกิดเหตุดินสไลด์ในบางแห่ง 


ทั้งนี้ กอนช. ได้มีการออกประกาศล่วงหน้าเพื่อแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว


ปัจจุบันพายุตาลิมซึ่งอยู่บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ได้ลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว และจะค่อย ๆ สลายตัวในระยะถัดไป ทั้งนี้ สทนช. ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ฝนและปริมาณน้ำจากอิทธิพลของพายุและร่องมรสุม คาดว่าจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 66 รวมกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะช่วยเติมเต็มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย 


โดยคาดการณ์อ่างฯ ที่จะมีน้ำไหลเข้าสูงสุด ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ 188 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 108 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริธร 83 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา 69 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปาว 63 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำทั่วประเทศ พบว่า มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำมากที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ รวม 34 แห่ง โดยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คือ 24 แห่ง อย่างไรก็ตาม ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ โดย กอนช. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และให้พิจารณาอย่างรอบคอบหากต้องมีการระบายน้ำออกไปในลำน้ำ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเด็ดขาด โดยปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการกักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ท่ามกลางสภาวะเอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนไปถึงปี 2567


ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า กอนช. ได้ติดตามแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ขณะนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงอยู่บริเวณซีกตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีแนวโน้มว่าอาจจะพัฒนากำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุหมุนฤดูร้อน ลักษณะคล้ายกับพายุตาลิม


ซึ่ง กอนช. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะมีการให้ข้อมูลรวมถึงแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. 


จากการคาดการณ์ พบว่า สัปดาห์นี้ยังคงมีโอกาสที่จะมีฝนตกกระจายหลายพื้นที่ โดยเป็นฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะมีร่องมรสุมที่พาดผ่านในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงในพื้นที่ภาคใต้ จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศ กอนช. เพื่อเฝ้าระวัง 


ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศยังคงอยูในเกณฑ์น้อย โดยต่ำกว่าค่าปกติ 24% แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่ยังคงมีฝนน้อย โดยยังคงเน้นย้ำความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการประหยัดน้ำ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชรอบเดียว เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด และได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ใช้อ่างพวงในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความสมดุล เติมเต็มน้ำในอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคเอกชน ในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐเพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญ





ที่มา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ