ทั่วโลกเดินหน้าลด “ขยะพลาสติก” สั่งแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ "โลกร้อน"ตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกหันมาตื่นตัวและลดการใช้พลาสติกอย่างเข้มข้น รวมทั้งสั่งเเบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาดูกันว่ามีประเทศไหนบ้าง
ริ่มจากอินเดียรัฐบาลอินเดียประกาศห้ามใช้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 สำหรับขยะพลาสติกเป็นแหล่งมลพิษสำคัญของอินเดีย แต่ละปีอินเดียสร้างขยะพลาสติกราว 4.1 ล้านตัน และมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2569-2570 ภาคการผลิตต้องรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก 100 % ส่วนที่อังกฤษ มีประกาศห้ามใช้ช้อนส้อม จาน และสิ่งของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไปและหันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแทน โดยมีเป้าหมายกำจัดขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งได้ทั้งหมดภายในปี 2585 ขณะที่ฮ่องกงมีแนวคิดที่จะสั่งห้ามการใช้ช้อนส้อมพลาสติกที่ร้านอาหารภายในปี 2568 โดยวางแผนว่าฮ่องกงจะต้องเริ่มแบนการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง กำหนดการจะเริ่มใช้มาตรการนี้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 จีน เมืองใหญ่ ๆ ของจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ สั่งห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2560 เตรียมแบนการใช้พลาสติกทั่วทั้งประเทศภายในปี 2568 ส่วนประเทศไทย ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน จึงทำให้มีแผน roadmap จัดการขยะพลาสติก เป้าหมายคือ การนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 คาดการณ์ว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3.9 พันล้านบาทต่อปี สำหรับ "ขยะพลาสติก" กลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันดับต้น ๆ ของโลกเพราะต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 400-450 ปี ดังนั้นหลายประเทศจึงพยายามที่จะหาวิธีการ ลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติก หรือ "ขยะพลาสติก" แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งนั่นเอง มีการตั้งเป้าแล้ว ต้องดำเนินการด้วย ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนรวมถึงประชาชน