คาดโลกจะร้อนเกิน 1.5 องศาฯ เป็นครั้งแรก ภายในปี 2027
Climate: ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรก
คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เปิดเผยว่า คลื่นความร้อนที่ปกคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะร้อนเป็นประวัติการณ์มากกว่า 30 เท่า อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยพื้นที่ขนาดใหญ่ในภูมิภาคเผชิญอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสเมื่อเดือนที่แล้ว
ขณะที่บังกลาเทศร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี ไทยเผชิญอากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ 45 องศาเซลเซียส ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เผชิญอากาศร้อนทะลุ 42 องศาเซลเซียส สร้างความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานเป็นวงกว้าง และขาดแคลนพลังงาน ตลอดจนทำให้เกิดฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า คลื่นความร้อนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในรอบ 100 ปีที่บังกลาเทศ และอินเดีย แต่ขณะนี้ คาดว่า คลื่นความร้อนจะเกิดขึ้นทุก 5 ปีในประเทศดังกล่าว ขณะที่คลื่นความร้อนในไทยและสปป.ลาว แทบเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยผลการศึกษาระบุด้วยว่า ดัชนีความร้อนในบางพื้นที่ของภูมิภาค คาดว่าจะเกือบถึงระดับอันตรายมากที่ 54 องศาเซลเซียส เมื่อความชื้นเป็นปัจจัย ทำให้สุขภาพของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ ออกมาระบุว่า มีโอกาสถึงร้อยละ 66 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรกภายในปี 2027 โดมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้
อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หมายความว่าโลกร้อนขึ้นกว่าในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ส่วนผลกระทบจะเริ่มเห็นความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่ยาวนาน พายุที่รุนแรง และไฟป่าที่เพิ่มมากขึ้น
นับตั้งแต่เมื่อปี 2020 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้จัดทำข้อมูลเพื่อคาดการณ์กรณีที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสทุก ๆ ปี โดยในปีแรก ๆ โอกาสที่จะเกิดขึ้นภายใน 5 ปี ข้างหน้ามีไม่ถึงร้อยละ 20 แต่ว่าเมื่อปีที่แล้ว โอกาสดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 และในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 66 ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากกว่าไม่เกิดเป็นครั้งแรก
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงกับโลก แต่เมื่อปี 2018 ก็มีการทบทวน และปรับลดตัวเลขลงเหลือ 1.5 องศาเซลเซียส ที่จะทำให้เกิดหายนะขึ้นกับโลก
ส่วนสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ขณะนี้อยู่ที่ 1.28 องศาเซลเซียส ซึ่งบันทึกไว้ได้เมื่อปี 2016 และล่าสุดนักวิจัยเชื่อว่า โอกาสที่ตัวเลขสถิติดังกล่าวจะถูกทำลายภายในปี 2027 มีโอกาสมากถึงร้อยละ 98 เลยทีเดียว
_____
ติดตามข่าวสภาพอากาศ และเช็คจุดฝนตก น้ำท่วม ถนนรถติด ผ่าน TNN EARTH
Website : https://bit.ly/3MXvq5I
Youtube : https://bit.ly/3MZUVmK
TikTok : https://bit.ly/3naJL4p
Facebook : https://bit.ly/3bxVMy0
Line : https://lin.ee/rPHmFpD