จุฬาฯเตรียมทดสอบวัคซีนโควิดสู้"โอไมครอน"ในหนู
จุฬาฯเริ่มวางแผนพัฒนาวัคซีนอีกรุ่น ที่จะรับมือสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว ปัจจุบันกำลังคิดค้นพัฒนา และเตรียมจะนำทดลองในหนู
วันนี้ ( 8 ธ.ค. 64 )ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ระบุว่า ปัจจุบันได้ออกแบบวัคซีนที่เตรียมทดสอบกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว ซึ่งคาดว่า อีก 1-2 เดือน จะได้เริ่มนำมาทดลองในหนู ซึ่งการเตรียมทดสอบเช่นนี้ จะช่วยให้การพัฒนาและผลิตวัคซีนทำได้เร็วขึ้น
ส่วนความคืบหน้าของวัคซีน ChulaCov19 กำลังจะเริ่มรับอาสาสมัครเข้าร่สมการทดลองระยะที่ 3 กลางเดือนนี้ จำนวน 4,000 คน และคาดว่าจะเริ่มฉีดทดลองได้จริงกลางเดือนมกราคม 2565 โดยผลการทดลองจะต้องดูว่า ในอาสาสมัครไทย 300 คนที่รับไฟเซอร์ กับอีก 300 คนที่รับวัคซีน ChulaCov19 ว่า มีผลข้างเคียงต่างกันหรือไม่ และผู้ฉีด ChulaCov19 ได้ภูมิคุ้มกันสูงกว่า วัคซีนไฟเซอร์หรือไม่
ซึ่งหากภูมิสูงเท่ากันจะส่งผลให้ขึ้นทะเบียน อย.ได้ บวกกับต้องรอดูอาสาสมัครอีกกว่า 3 พันคนที่เหลือ ว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงหรือไม่ด้วย หากทุกอย่างประสบผลสำเร็จตามแผน จะทำให้ขึ้นทะเบียน อย.ในภาวะฉุกเฉินได้กลางปี 2565 นี่คือวัคซีน ChulaCov19 รุ่นแรก ที่คาดว่าคนไทยจะได้ใช้ในอีกไม่นาน ซึ่งผลการทดลองทั้ง 2 ระยะก่อนหน้า พบว่า สามารถรับมือโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาได้ แม้ภูมิจะลดลงเมื่อเจอเชื้อ แต่ยังป้องกันป่วยรุนแรงได้
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการทดลองระยะที่ 3 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 2,300 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะแบ่งไว้ผลิต ส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน ในช่วงที่ขึ้นทะเบียนภาวะฉุกเฉิน เดือนมิถุนายนปี 2565 แล้วเรียบร้อย จำนวน 1 ล้านโดส
ภาพจาก : ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ