WHO อนุมัติวัคซีน “โควาซิน” ของอินเดียในกรณีฉุกเฉิน
WHO อนุมัติใช้วัคซีนโควิด โควาซิน (Covaxin) ชนิดเชื้อตายของสัญชาติอินเดีย สำหรับการใช้งานในกรณีฉุกเฉินแล้ว
วันนี้( 4 พ.ย.64) องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โควาซิน (Covaxin) ชนิดเชื้อตายซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของประเทศอินเดีย สำหรับการใช้งานในกรณีฉุกเฉินแล้ว
ทั้งนี้ โควาซินนับเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวที่ 8 ที่ได้รับการอนุมัติเพื่อใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินจาก WHO ต่อจาก แอสตราเซเนก้า/ออกซฟอร์ด , ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค , โควิชิลด์ , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน , โมเดอร์นา , ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค
รู้จักวัคซีน “โควาซิน”
- วัคซีนโควาซิน (Covaxin) พัฒนาโดย บริษัท ภารัต ไบโอเทค ร่วมกับสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติอินเดีย หรือ NIV และสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งประเทศอินเดีย หรือ ICMR
- ใช้เทคนิคเชื้อตาย (Inactivated vaccines) ซึ่งผลิตมาจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
-วัคซีนโควิดโควาซีนต้องฉีดจำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน (4 สัปดาห์)
คำแนะนำทั่วไปให้ฉีดในผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ห้ามฉีดในผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
- ห้ามฉีดในผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดชนิดอื่นๆ ไปก่อนหน้า
- วัคซีนโควาซินมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้ประมาณร้อยละ 78 (%)
-วัคซีนโควิดโควาซิน มีอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงคล้ายวัคซีนเจ้าอื่น
โควาซินเป็นความหวัง และโอกาสของอินเดีย คือการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสในประเทศ และเป็นหนทางที่อินเดียส่งออกวัคซีนในยุคที่โควิดกำลังระบาด
ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับความคาดหวังว่าจะเป็นผู้ส่งออกวัคซีนโควิดราคาถูกให้แก่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลก ผ่านโครงการวัคซีนโคแวกซ์
แต่หลังจากที่ส่งออกวัคซีนไปราว 66 ล้านโดสให้แก่ 100 ประเทศ รัฐบาลอินเดียได้ประกาศระงับการส่งออกเมื่อเดือนเมษายน เพื่อนำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนในประเทศก่อน สืบเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนั้น ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศที่รอวัคซีนโควิดจากอินเดีย
นอกเหนือจาก "โควาซิน" แล้ว อินเดียยังผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีชื่อว่า Covishield ของบริษัท แอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) ผ่านสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) หรือ SII หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก และสามารถผลิตวัคซีนได้มากกว่า 60 ล้านโดสต่อเดือน
ผลการทดสอบทางคลินิกระหว่างประเทศล่าสุด พบว่า วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนก้าชนิดนี้ มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิด-19 ได้ถึง 90% ในกรณีที่ฉีดเข็มแรกครึ่งโดส และฉีดเข็มที่สองเต็มโดส อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวยังคงต้องมีการวิจัยที่ลงลึกในรายละเอียด และมีความชัดเจนให้มากขึ้นในอนาคต
ภาพจาก reuters