TNN สธ.ยังไทยไม่พบโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเดลต้า 97.5%

TNN

เกาะติด COVID-19

สธ.ยังไทยไม่พบโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเดลต้า 97.5%

สธ.ยังไทยไม่พบโควิดกลายพันธุ์ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเดลต้า 97.5%

สธ. เผยไทยยังไม่พบโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ส่วนใหญ่ที่พบเป็นเดลต้า 97.5% ชี้วัคซีนที่ใช้ยังมีประสิทธิภาพป้องกันอยู่

นนี้(11 ต.ค. 64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกลายพันธุ์ของโควิด-19 รวมทั้งวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ โดยภาพรวมทั้งประเทศพบ 97.5% เป็นการระบาดของสายพันธุ์เดลตา อย่างไรก็ดีบริเวณ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีการระบาดหนักอยู่ จากการสำรวจประชาชนจำนวน 105 ตัวอย่างพบ 67.6% เป็นสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์อัลฟา 18.1% และพบสายพันธุ์เบตา 14.3% 

นอกจากนี้ ในวันนี้ (11 ต.ค.) ทางประเทศสหราชอาณาจักรประกาศถอดประเทศไทยออกจากบัญชีแดง ให้คนไทยสามารถดินทางเข้าประเทศได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้สหราชอาณาจักรได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ก่อนหน้านี้ให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีแดง ดังนี้ 

 1. ขอให้บรรจุข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสายพันธุ์ ที่ตรวจพบในไทยอย่างสม่ำเสมอ (ทุกสัปดาห์ หรือทุก 2 สัปดาห์) ลงในฐานข้อมูล GISAID โดยประเทศไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว คือ เผยแพร่ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole genome sequencing- WGS) ในฐานข้อมูล GISAID ทุกสัปดาห์ และติดตามการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์น่ากังวลด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างทั่วประเทศ 450 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ โดยดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมโรค ซึ่งการคำนวณจำนวนตัวอย่างนั้นปฎิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO)

2. ขอให้การตรวจสอบสายพันธุ์ (genome sequencing) ของไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่า จะสามารถตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างแม่นยำ แม้จะมีการติดเชื้อในอัตราส่วนเพียงเล็กน้อย เช่น น้อยกว่า 1% ของประชากรไทยทั้งหมด 

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว คือ กำหนดแนวทางการสุ่มตัวอย่างตรวจ WGS for VOCs เพื่อตรวจจับสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศ ในส่วนของการตรวจ WGS ภาพรวมประเทศ จะเลือกจำนวนตัวอย่างตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศในช่วงสัปดาห์ โดยให้ตัวอย่างสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจาก 2.5% เป็น 10% ดังนั้นจึงใช้ตัวอย่างอยู่ที่ประมาณ 130 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ทั้งนี้จะใช้เกณฑ์ในการตรวจจับ VOCs หรือ VOIs ใหม่ๆ จากผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการนำสายพันธุ์ใหม่เข้ามา เช่น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือผู้ที่มีลักษณะอื่นๆ ที่สงสัยว่าจะเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น โดยจะมีการตรวจจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 372 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

3. ชี้แจงและเปิดเผยระบบการตรวจเชื้อแบบ RT-PCR และระบบการตรวจสายพันธุ์ที่ชัดเจน รวมทั้งเพิ่มจำนวนการตรวจเชื้อต่อวันของไทยให้มากขึ้น

ประเทศไทยได้ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ในกรณีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ที่พบสัดส่วนผลบวกมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากตั้งแต่เดือนก.ค. 64 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และ สธ. เน้นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) โดยโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะใช้ชุดตรวจ ATK เป็นวิธีตรวจเบื้องต้นแล้วแจ้งยืนยันผลบวกนั้นด้วยวิธี RT-PCR จึงเป็นเหตุให้สัดส่วนผลบวกของ RT-PCR เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการคัดกรองการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงการเก็บตัวอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเผยแพร่เอกสารเป็นภาษาอังกฤษ บนเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งอ้างอิงฉบับล่าสุดใน "Guidance for surveillance of SARS-CoV-2 variants: interim guidance" ของ WHO 

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการใช้ชุดตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบผลลบลวงนั้นเป็นข้อจำกัดของเครื่องมือ หากตรวจเร็วเกินกว่าที่เชื้อเพิ่มจำนวน หรือกรณีที่มีเชื้อน้อยเกินไป เนื่องจากร่างกายจัดการเชื้อโรคไปส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะทำให้ตรวจไม่เจอเชื้อ และอีกกรณีที่ใช้ชุดตรวจไม่ถูกต้องตามคู่มือที่กำหนด ก็อาจทำให้ได้ผลลบลวงเช่นกัน ดังนั้นหากผลเป็นลบ หากมีความเสี่ยงในภายหลังควรมีการตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ หรืออาจตรวจด้วย RT-PCR เพื่อยืนยันผลตรวจให้มีความแม่นยำมากขึ้น

ขณะที่นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกรณีข่าวลือบนโลกออนไลน์ที่ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี สารโลหะ หรืออลูมินัมนั้นว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากวัคซีนทุกชนิดมีการจดแจ้งรายละเอียดอย่างชัดเจน และมีการตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัยของวัคซีนแต่ละล็อตทุกครั้ง ทั้งนี้หากพบว่าวัคซีนล็อตใดมีความผิดปกติ จะมีการระงับการใช้วัคซีน หรือทำลายทิ้งทันที

ส่วนกรณีที่ระบุว่าในวัคซีนไฟเซอร์มีลิควิดนาโนพาร์ทิเคิล นั้นวัคซีนไฟเซอร์มีส่วนประกอบของลิควิดนาโนพาร์ทิเคิลจริง มาจากการที่ไฟเซอร์ได้นำใช้เทคโนโลยีนาโนพาร์ทิเคิลมาใช้ในการพัฒนาวัคซีน โดยเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่จะดันตัวยาเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ได้รับการอนุญาตจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งมีความปลอดภัย และไม่ใช่สารแปลกปลอม 

นอกจากนี้กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เมื่อป่วยจะมีอาการหนักกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนอื่นๆ หรือมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์มีความชัดเจนในเรื่องการป้องกันการเสียชีวิตได้จริง


ข้อมูลจาก :   กระทรวงสาธารณสุข

ภาพจาก   :    AFP

ข่าวแนะนำ