ค่ารักษาเป็นแสน! “อาการมิสซี” ในเด็กหลังติดโควิด ฉีดวัคซีนป้องกันถูกกว่า
พ่ออึ้งค่ารักษาอาการ "มิสซี" ในเด็กหลังติดโควิดสูงกว่า "สองแสนหกหมื่นบาท" เพจดังเตือนฉีดวัคซีนป้องกัน ถูกกว่ารักษา
วันนี้ ( 11 ต.ค. 64 )เพจดัง Drama-addict โพสต์ถึงกรณีเด็กที่ป่วยด้วยอาการมิสซี กลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็ก หลังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 ซึ่งพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษานั้น สูงถึงหลักแสน และยังพบว่า บางรายที่มีอาการหนักมากค่าใช้จ่ายทะลุไปถึงหลักล้านเลยทีเดียว
โพสต์ดังกล่าวระบุว่า “คุณพ่อท่านนึงมาปรึกษาเรื่องค่ารักษาลูกของเขาที่ป่วยเป็นมิสซี หรือ ภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ หลังติดเชื้อโควิด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังเด็กเล็ก จนถึงเด็กวัยรุ่น ติดโควิดได้ 2-4 สัปดาห์ อาการรุนแรง และอาจถึงชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ทัน
เคสนี้ ค่ารักษา สองแสนหก ซึ่งถือว่ายังน้อยครับ เพราะหลายๆรายที่เป็นโรคมิสซี แล้วอาการหนัก ค่ารักษาทะลุหลักล้านไปไกลมาก โรคนี้มันโหดอยู่ครับ ดังนั้นพ่อแม่เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆเป็นมิสซี ไปฉีดวัคซีนครับ การป้องกัน ถูกกว่าการรักษามากๆๆๆ”
ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยถึงภาวะมิสซี ว่า สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบ ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ประมาณ 0.02% ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโควิด
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อกที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ร่วมกับการตรวจพบเชื้อหรือภูมิคุ้มกัน หรือประวัติสัมผัสเชื้อโควิด ซึ่งการอักเสบของหัวใจพบได้ 35% - 100% อาจมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วประมาณ 30 - 40 คน ทั่วประเทศ ซึ่งภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้มกัน
รายงานจาก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ระบุว่าในสถาบัน พบผู้ป่วยมิสซี 8 คน อายุตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 11 ขวบ โดยผู้ป่วย 6 คน มีประวัติการเป็นโควิดมาก่อน ภายใน 4 - 6 สัปดาห์ และมีอาการของโรคโควิดน้อย หรือไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยอีก 2 คน ไม่พบประวัติการสัมผัสเชื้อที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกคนมีไข้ร่วมกับผื่น ส่วนใหญ่พบอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ในเด็กเล็กมักมีอาการตาแดง ปากแดง มือเท้าบวม คล้ายโรคคาวาซากิ การตรวจเลือดจะพบค่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วย 4 คน หรือ 50% มีภาวะช็อกจากการที่หัวใจบีบตัวได้ลดลง จำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต
ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรง 3 คน มีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังไม่พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้ การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้
ข้อมูลจาก : Drama-addict
ภาพจาก : AFP