สปสช.ชี้แจก ATK ช่วงนี้จังหวะดี สอดรับการเปิดร้านค้า-อาหารเพิ่มความมั่นใจผู้บริโภค
สปสช.ชี้ภาคธุรกิจร้านค้าร้านอาหารเริ่มกลับมาเปิดบริการ ถือเป็นจังหวะดีในการแจก ATK ให้ประชาชนตรวจด้วยตัวเอง ช่วยสร้างความมั่นใจ ใช้ชีวิตได้สบายใจมากขึ้น
ภาพโดย TNN Online
วันนี้( 20 ก.ย.64) ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) แบบ Self-test แก่ประชาชนเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองจำนวน 8.5 ล้านชุดว่า ในช่วงนี้เป็นจังหวะที่สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยเริ่มเบาบางลงจากช่วงก่อนหน้านี้ และภาคธุรกิจเริ่มเปิดร้านค้าร้านอาหารและการบริการต่างๆ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้นำ ATK มาเป็นเครื่องมือคัดกรอง ช่วยสร้างความมั่นใจผู้ใช้บริการ และคนในชุมชนก็จะมั่นใจ ใช้ชีวิตประจำวันได้สบายใจมากขึ้น ขณะเดียวกันหากพบผู้ติดเชื้อก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวอีกว่า ในส่วนของ กทม.นั้น จะได้รับการจัดสรร ATK จำนวน 2.26 ล้านชุด กระจายไปในชุมชนผ่านศูนย์บริการสุขภาพของกทม.และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. โดยการรับชุดตรวจที่ร้านยานั้น ประชาชนสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยจะมีแบบสอบถามเพื่อคัดกรองความเสี่ยง หากเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับแจก ATK โดยเลือกจุดรับที่ร้านยาใกล้บ้านได้ ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะมีป้ายสีเหลืองใหญ่ๆเขียนว่ารับชุดตรวจ ATK ฟรีที่นี่
"เรื่องกลุ่มเสี่ยงนี้ บางทีเป็นเรื่องของความกังวลทางด้านจิตใจมากกว่า อย่างเวลาเราลงชุมชนไปตรวจบ้านที่มีการติดเชื้อ คนข้างบ้านก็จะสงสัยว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ แบบนี้ไม่ต้องกังวลนะคะ เราดูจากอาการของเรา ถ้าสะดวกก็แยกตัวไปโดยยังไม่ต้องตรวจด้วย ATK ก็ได้ แต่ถ้ามีความเสี่ยงขึ้นมาจริงๆ แกนนำชุมชนจะกระจายให้ท่านเลยค่ะ ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
นอกจากการกระจายผ่านร้านยาโดยวิธีลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตังแล้ว กรณีของคนในชุมชนต่างๆหรือคนที่มีข้อจำกัดในการใช้แอปฯผ่านสมาร์ทโฟน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ก็จะใช้ช่องทางพิเศษที่สำนักอนามัย กทม. ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข โดยขอความร่วมมือจากประธานชุมชน แกนนำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ประเมินความเสี่ยงของคนในชุมชนและกระจาย ATK แก่กลุ่มเสี่ยงให้ถึงบ้าน และสำรองบางส่วนไว้ในชุมชนเพื่อที่หากพบผู้มีความเสี่ยงก็สามารถมาขอรับที่แกนนำชุมชนเอาไปตรวจเองที่บ้านได้
นอกจากนี้แล้ว สปสช. ยังร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดส่งชุดตรวจ ATK ไปตามสถานคุ้มครองเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองกรณีมีคนใหม่ๆเข้ามาพักอาศัย รวมทั้งมีการหารือว่าจะกระจายแก่กลุ่มคนพิการอย่างไร เบื้องต้น พม. มองว่าด้วยเครือข่ายในปัจจุบันยังสามารถช่วยให้ผู้พิการเข้าถึง ATK ได้ แต่กรณีที่พบว่ามีกลุ่มที่ยังไม่ได้จริงๆ สปสช.จะใช้มาตรการจัดส่งทางไปรษณีย์ไปให้ถึงบ้านเลย
"กรณีผลตรวจเป็นบวก ในแอปฯเป๋าตังจะมีให้เลือกว่าจะเข้า Home Isolation ที่ไหน ที่อยู่ปัจจุบันหรือกลับภูมิลำเนาก็ได้ ถ้าเลือกที่อยู่ปัจจุบันใน กทม. ข้อมูลก็จะส่งเข้าระบบแล้วกระจายคนไข้ให้คลินิกที่ตั้งอยู่ใกล้ผู้ป่วยมากที่สุดเป็นผู้ดูแลติดตามอาการ ส่งอุปกรณ์ ส่งข้าวส่งน้ำ หรือถ้าเป็นคนในชุมชนก็จะมี อสส.ช่วยประสานเข้าสู่ระบบการดูแล หรือใช้ช่องทางที่รับรู้กันคือโทรมาที่สายด่วน 1330 ก็ได้ค่ะ" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว