หัวหน้าศูนย์จีโนม เผยโควิดสายพันธุ์ "มิว" ยังไม่เจอในไทย
หัวหน้าศูนย์จีโนม ระบุ ไทยยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ “มิว” แต่ต้องเฝ้าระวังเข้มงวดผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
วันนี้( 2 ก.ย.64) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์มิว (Mu) รหัสพันธุกรรม B.1.621 ที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ยกระดับให้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) ขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทย แต่ก็ต้องเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งในสถานกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและในโครงการแซนด์บ็อกซ์
อย่างไรก็ตามสายพันธุ์นี้ยังไม่น่ากังวลเพราะยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกที่บ่งชี้ว่า จะรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่รหัสพันธุกรรมบ่งชี้ว่าอาจจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ จึงถูกจัดให้เฝ้าระวังเนื่องจากเกรงว่าวัคซีนที่ฉีดเข้าไปหรือแอนติบอดี้สังเคราะห์ที่ฉีดเข้าไปจะไม่ตอบสนอง ดังนั้นจึงต้องรีบศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ
สำหรับสายพันธุ์มิว ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย เมื่อเดือนม.ค. 2564 ต้นปีที่ผ่านมา ในฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID มีการเผยแพร่ข้อมูลที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น และมีการถอดรหัสพันธุกรรม พบการกลายพันธุ์ที่ต่างจากสายพันธ์ดังเดิมอู่ฮั่นค่อนข้างมากถึง 50-60 ตำแหน่ง จึงเป็นปัจจัยทำให้องค์การอนามัยโลกพิจารณายกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตัวที่ 5 หลังจากที่ก่อนหน้ามี 4 สายพันธุ์ที่ถูกจัดให้เฝ้าระวัง คือ อีตา (Eta- B.1.525) ระบาดในหลายประเทศ ,ไอโอตา (Iota – B.1.526 ) ระบาดในสหรัฐอเมริกา , แคปปา (Kappa- B.1.617.1) ระบาดในอินเดีย และ แลมบ์ดา (Lambda- C.37) ระบาดในเปรู สายพันธุ์เหล่านี้ถูกจัดเป็นกลุ่มสีเหลืองที่ความรุนแรงยังต่ำกว่าสายพันธุ์ที่ต้องระวังหรือ Variants of Concern (VOC) เป็นกลุ่มสีแดงมี 4 ตัวที่ระบาดในขณะนี้ คือ เดลตา อัลฟา เบตา และแกมมา
ส่วนโควิดกลายพันธุ์ C.1.2 ที่แพร่ระบาดในแอฟริกาใต้และอีก 7 ประเทศ ล่าสุด นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ปัจจุบัน โควิดกลายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเฝ้าระวังทุกช่องทาง แต่ที่กังวลมากสุด มี 2 ข้อ คือ หวั่นว่าสายพันธุ์นี้จะเข้ามาทางเครื่องบินจากต่างประเทศ ดังนั้นตอนนี้ผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศตอนนี้จึงมีการตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน และอีกช่องทางที่กังวล คือ การนำเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทย เช่นสายพันธุ์เบตา ที่ก่อนหน้านี้ถูกนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย มาที่ จ.นราธิวาส
ข้อมูลของสายพันธุ์ C.1.2 ที่มีการเผยแพร่ว่า แพร่ระบาดง่ายขึ้นและสู้กับภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราได้ดีกว่าเดิม ยังไม่มีข้อมูลผลการศึกษามายืนยัน เพราะยังพบการแพร่ระบาดในปริมาณไม่มาก ดังนั้นจึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ที่ป่วยสายพันธุ์นี้ในแอฟริกาใต้ มีอาการป่วยหนัก หรือรุนแรงมากน้อยเพียงใด จึงทำให้ WHO ยังไม่นำสายพันธุ์นี้ มาจัดลำดับชั้นความรุนแรง
ดังนั้นปัจจุบันสายพันธุ์ที่ยังคงน่ากลัวที่สุด คือ เดลตา ส่วนในประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้ พบว่า มีสายพันธุ์ย่อย หรือลูกของเดลต้า ในผู้ป่วย คือ AY.4 , AY.6 ,AY.10 และ AY.12 ปัจจุบัน ยังคงมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์นี้เช่นกัน ล่าสุดพบว่า มีลูกของเดลตาเพิ่มเติมอีก ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะชี้แจงรายละเอียดในสัปดาห์หน้า