คืบหน้าทดสอบวัคซีน "ChulaCOV19" ระยะที่ 1 สร้างแอนติบอดีสูงมาก ต้านโควิดกลายพันธุ์
ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ เผยความคืบหน้าการทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ระยะที่ 1 พบว่าสามารถสร้างแอนติบอดีสูงมาก ป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม และเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง 4 สายพันธุ์ และพบว่าหลังฉีดมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง
วันนี้ (28 ส.ค.64) ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ระยะที่ 1 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA สัญชาติไทย เมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้เซลล์ สร้างโปรตีนส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (Spike Protein) ทำให้ร่างกายรู้จักและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อโควิด -19 ซึ่งสาร mRNA ที่อยู่ในวัคซีนจะถูกทำให้สลายไปภายในไม่เกิน 6 วัน โดยไม่สะสมในร่างกาย
ผลการทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ระยะที่ 1
1.อาสาสมัครมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด -19 ดี กระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมาก รวมถึงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ ซึ่งช่วยกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสที่อยู่ในเซลล์ของผู้ติดเชื้อได้
2.วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) และป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟ่า (อังกฤษ) เบต้า (แอฟริกาใต้) แกมม่า (บราซิล) และเดลต้า (อินเดีย)
3.จากการติดตามอาการในกลุ่มอาสาสมัครหลังฉีดวัคซีนครบ 7 วัน พบว่ามีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนใหญ่เกิดอาการขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด เพลีย ไข้ หนาวสั่น และหายได้เองภายใน 1-3 วัน
สำหรับจุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19
1.สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นาน 3 เดือน และจัดเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ทำให้เก็บรักษาได้ง่ายมากกว่าวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น
2.ผลการทดสอบในหนูทดลองผ่านเกณฑ์ดีมาก สามารถป้องกันอาการป่วย และยับยั้งไม่ให้เชื้อโควิด-19 เข้าสู่กระแสเลือด ลดจำนวนเชื้อไวรัสในจมูกและปอด รวมทั้งมีความปลอดภัยจากการทดสอบความเป็นพิษ
3.สามารถผลิตได้เร็ว เนื่องจากวัคซีนชนิด mRNA ไม่จำเป็นต้องเพาะเลี้ยงเชื้อ เพียงทราบสายพันธุ์ของเชื้อก็สามารถผลิตวัคซีนได้ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และหากเกิดเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคตจะสามารถสังเคราะห์วัคซีนรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ระยะต่อไปจะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 ในกลุ่มอาสาสมัคร จำนวน 150-300 คน โดยจะเริ่มก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 และทำการทดสอบเพิ่มเติม เช่น ระยะที่ 2 บี หรือระยะที่ 3 ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีเป้าหมายขึ้นทะเบียนในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 หากเป็นไปได้
ข้อมูลจาก Chula VRC