TNN "หมอนิธิพัฒน์" คาด 3 วันข้างหน้า ผู้ป่วยโควิดทะลุหลักล้าน!

TNN

เกาะติด COVID-19

"หมอนิธิพัฒน์" คาด 3 วันข้างหน้า ผู้ป่วยโควิดทะลุหลักล้าน!

หมอนิธิพัฒน์ คาด 3 วันข้างหน้า ผู้ป่วยโควิดทะลุหลักล้าน!

"หมอนิธิพัฒน์" เศร้าใจคาด 3 วันข้างหน้า ผู้ป่วยโควิดสะสมเกินหลักล้าน พร้อมนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจมูกและโควิดมาเล่าสู่กันฟัง

วันนี้( 7 ส.ค.64) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 

"ในท่ามกลางสถานการณ์โควิดบานปลายไปทั่วโลกจากพิษเจ้าสายพันธุ์เดลตา ประเทศที่ดำเนินการควบคุมโรคได้ไม่มีประสิทธิภาพ แถมยังฉีดวัคซีนไม่ได้ครอบคลุมวงกว้าง อย่างแถวที่เรารักและอาศัยอยู่ร่วมกันในปัจจุบันนี้ คงยังต้องเศร้าใจกันต่อกับจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตรายวัน ที่วันนี้ทำนิวไฮข้ามหลัก 300 ไปได้แล้ว และก็เตรียมฉลองผู้ป่วยระลอกสี่ที่จะสะสมเกินหลักล้านได้ในอีกสามวันข้างหน้า หากจะเปรียบดวงตาว่าเป็นหน้าต่างของหัวใจ จมูกก็ควรจะถูกเปรยว่าเป็นประตูของระบบการหายใจ มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจมูกและโควิดมาเล่าสู่กันฟัง

จมูกไม่รับกลิ่น เป็นอาการหนึ่งของโรคโควิด-19 ที่โดดเด่นต่างจากการติดเชื้อในระบบการหายใจอื่น จากการศึกษาในผู้ป่วย 111 คนจากเยอรมันและอิตาลีที่ไม่มีโรคทางจมูกหรือสมองเรื้อรังอยู่ก่อน เมื่อป่วยเป็นโควิด-19 พบจมูกได้กลิ่นผิดปกติถึง 70% ของทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ (73%) จะกลับเป็นปกติภายใน 28 วัน (Laryngoscope 2021; 131:1095-1100) 

จมูกมีเยื่อบุที่มีหลอดเลือดเล็กๆ มาเลี้ยงมากมาย จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการนำเชื้อโรค หรือยา หรือวัคซีนเข้าสู่ร่างกายเราโดยง่าย ได้มีการพยายามนำยาต้านไวรัสมาใช้พ่นผ่านจมูก เช่น 

niclosamide หรือ ยาที่ช่วยปรับภูมิต้านทานของร่างกายให้พอเหมาะกับการต่อต้านไวรัส เช่น สเตียรอยด์ หรือ สารกลุ่มอื่นที่มีฤทธิ์ทำนองเดียวกัน สำหรับวัคซีนพ่นจมูกเหมือนกับที่ใช้ในไข้หวัดใหญ่ ก็กำลังเป็นที่สนใจทำการศึกษากันอยู่ในต่างประเทศ ทั้งที่ให้เป็นวัคซีนโดสแรกเลย หรือเป็นวัคซีนเสริมโดสสองหลังฉีดวัคซีนเข้ากล้ามโดสแรกไปแล้ว

ในการศึกษาจากการชันสูตรศพผู้ป่วย 33 รายที่เสียชีวิต โดยทีมแพทย์จากเยอรมัน สามารถตรวจพบชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสได้ในบริเวณโพรงหลังจมูก (ซึ่งเราถูกแยงให้เข้าไปจนลึกถึงเวลาตรวจหาเชื้อ) ที่เชื่อมต่อเข้าไปถึงเนื้อสมอง โดยผ่านไปทางเนื้อสมองที่เป็นศูนย์รวมเส้นประสาทรับความรู้สึกจากผนังจมูก (ดังรูป) จากนั้นเชื้อไวรัสยังแทรกซึมไปได้ไกลต่อจนถึงศูนย์ควบคุมการหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตที่บริเวณก้านสมอง (Nature Neuroscience 24, 168–175 (2021). https://doi.org/10.1038/s41593-020-00758-5) และอาจเป็นสาเหตุของการเกิด happy hypoxemia

ล่าสุดมีการทำน้ำยาพ่นจมูกที่ผสมสารไนตริกออกไซด์ (nitric oxide nasal spray, NONS) ออกขายในต่างประเทศ โดยอ้างอิงผลการทดลองรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย จำนวน 40 คนในประเทศอังกฤษ พบว่าสามารถช่วยลดปริมาณไวรัสลงได้ (Journal of Infection 2021; 83:237-279) นอกจากนั้นน้ำยา povidone iodine ความเข้มข้น 1-5% เมื่อใช้ล้างจมูกเป็นเวลาอย่างน้อย 60 วินาที มีฤทธิ์ทำลายไวรัสได้เช่นกัน (Ear, Nose & Throat Journal 2021;100(2S):192S–196S) ทั้งสองวิธีนี้จึงอาจช่วยให้คนที่สัมผัสเสี่ยงสูง หรือคนที่เริ่มติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย สามารถลดการลุกลามของโรคไม่ให้รุนแรงต่อไปได้ และช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อสู่คนรอบข้าง

สำหรับการสูดดมควันสมุนไพรโดยใช้ผ้าคลุมเหนืออ่างใส่น้ำหรือรมควันในรูปแบบอื่น ยังหาผลการศึกษามาช่วยยืนยันไม่ได้ อย่างน้อยคงทำให้หายใจโล่งชั่วคราว แต่ต้องระวังการทำความสะอาดอุปกรณ์หลังการใช้งานให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อที่อาจตกค้างได้ #เดือนสิงหาอย่าออกบ้าน"

ข่าวแนะนำ