TNN กพท.สั่งสายการบิน ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 21 ก.ค.นี้

TNN

เกาะติด COVID-19

กพท.สั่งสายการบิน ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 21 ก.ค.นี้

กพท.สั่งสายการบิน ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 21 ก.ค.นี้

กพท.ออกประกาศสั่งสายการบิน "ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม" เริ่ม 21 ก.ค.นี้ ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 จำกัดการเดินทางของบุคคล สอดรับคำสั่งรัฐบาล-ศบค.

วันนี้ (18 ก.ค.64) นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศเรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 3) โดยระบุว่า

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 กำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้าย การเดินทางของบุคคล และการดำเนินกิจกรรมในระบบ ขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด

ดังนั้น เพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ซึ่งรัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชน หลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2564 และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน

2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับแก่เที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic Flight) ที่ให้บริการผู้โดยสาร(Passenger Flight) เท่านั้น

3. ห้ามมิให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงเวลาที่มีการระบาดสูงตามข้อกำหนด เว้นแต่เป็นเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) หรือเป็นกรณีอากาศยานที่ ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing) หรือขอลงทางเทคนิค (Technical Landing) โดยไม่มีผู้โดยสารลงจากเครื่อง หรือ มีความจำเป็น และได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความจำเป็นนั้นเพื่อประกอบการขออนุญาต เช่น เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ เพื่อการรับวัคซีน เป็นต้น

4.ในกรณีที่มีการยกเลิกเที่ยวบินและการรวมเที่ยวบิน ให้มีการแจ้งและดูแลผู้โดยสารอย่างเหมาะสมตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบิน ประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553

5.ให้ผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดเตรียมเอกสารรับรองความจำเป็นให้กับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะในสังกัดของตนซึ่งได้รับยกเว้นเพื่อใช้แสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หากมีการตรวจสอบ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

6. ในการดำเนินการของผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ยังคงมีการให้บริการอยู่ในห้วงเวลานี้ให้ปฏิบัติดังนี้

- ในการปฏิบัติการบินเพื่อรับส่งผู้โดยสารให้มีจำนวนผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารของอากาศยานที่ใช้ในเที่ยวบินนั้น ๆ และให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศพิจารณาการจัดที่นั่งในเครื่องบินอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นแออัด อันจะมีส่วนช่วยในการป้องกันควบคุมโรค ในกรณีที่ผู้โดยสารเดินทางมาด้วยกันสามารถให้นั่งติดกันได้

- ก่อนเข้าพื้นที่ท่าอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการสนามบินทำการตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามา ใช้บริการในท่าอากาศยานอย่างเข้มงวด โดยต้องมีการตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact Infrared Thermometer) หากบุคคลนั้น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเชียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ทำอากาศยาน โดยเด็ดขาด

- ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสาร ตามมาตรการป้องกันโรคของจังหวัดปลายทางอย่างเคร่งครัด หากตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน อาจพิจารณาระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น โดยเงื่อนไขการเดินทางเข้า/ออก และมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ที่ https://www.moicovid.com/

- ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสารโดยใช้ เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัดก่อนขึ้นเครื่องที่สถานีต้นทาง หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเชียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกหายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

- ก่อนออกจากพื้นที่ท่าอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการสนามบินทำการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร อย่างเข้มงวดโดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเชียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

- ให้ผู้ดำเนินการสนามบินติดตามดูแลให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ทำอากาศยานปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โดยเคร่งครัด

- ให้ผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแล ให้ประชาชนผู้มาใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการในระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัด และมาตรการ แนวทาง หรือแนวปฏิบัติอย่างอื่นที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค.หรือรัฐบาลกำหนด

- ให้ผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งเตือนผู้โดยสารกรณีเป็นผู้ป่วยยืนยันหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้งดการเดินทาง หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไปหรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ประกอบด้วย 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร.

กพท.สั่งสายการบิน ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 21 ก.ค.นี้

กพท.สั่งสายการบิน ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 21 ก.ค.นี้

กพท.สั่งสายการบิน ห้ามทำการบินในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่ม 21 ก.ค.นี้




ข่าวแนะนำ