ผู้ป่วยโควิดรอเตียง อย่าโทรหาสายด่วนหลายแห่ง ข้อมูลจะซ้ำซ้อน-ล่าช้า
สธ.แนะผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอประสานจัดหาเตียง ไม่ต้องโทรหาสายด่วนหลายแห่ง เพราะจะทำให้ข้อมูลซ้ำซ้อน เกิดความล่าช้า
วันนี้ (21 เม.ย.) พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติตัวของประชาชนกรณีที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ว่า ในเบื้องต้นให้ตรวจสอบตัวเองก่อนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับไหน โดยสามารถค้นหาแบบประเมินในแอปพลิเคชันต่างๆ ของภาครัฐก็ได้ เช่น แอปฯ ของโรงพยาบาลราชวิถี เป็นต้น ซึ่งเมื่อกรอกข้อมูลต่างๆ ไปแล้ว ระบบจะประมวลผลออกมาว่าท่านจัดเป็นเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงสูงก็ไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
พญ.ปฐมพร กล่าวอีกว่า ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่ำอาจสังเกตอาการหรือแยกกักตัวที่บ้านก็ได้ (Home quarantine) เหตุผลที่ต้องกักตัวเพราะในวันนี้อาจไม่มีอาการ แต่อีก 3 วันข้างหน้าอาจมีอาการก็ได้ ความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งหากไม่แยกกักตัวก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนในครอบครัวนั่นเอง
พญ.ปฐมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลนั้น ผลตรวจจะยังไม่ออกทันที แต่ถ้าบุคคลนั้นๆมีอาการหรือเอกซเรย์ปอดแล้วพบว่ามีความเสี่ยง โรงพยาบาลจะหาเตียงให้นอน แต่ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ก็สามารถกลับบ้านได้ แต่เมื่อกลับบ้านแล้วมีข้อปฏิบัติคือ
1.แยกตัวเองอยู่ในที่พัก 14 วันนับจากวันตรวจคัดกรองไม่ว่าผลจะออกมาบวกหรือลบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพราะวันที่ตรวจยังไม่มีอาการ ต่อมาอาจมีอาการก็ได้ ดังนั้นกักตัวให้ครบ 14 วัน
2.ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น
3.ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ช้อนส้อมและควรอยู่ในห้องที่แยกเดี่ยว แต่ถ้าที่บ้านมีห้องเดียวก็รอโรงพยาบาลว่าจะให้จัดการให้อย่างไร โรงพยาบาลอาจจะให้เข้านอนที่โรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel เป็นต้น
4.ล้างมือบ่อยๆ
5.สวมหน้ากากและอยู่ในระยะห่าง 1-2 เมตร
6.หลีกเลี่ยงการพูดคุย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง
7.ทิ้งหน้ากากอนามัยในถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท ทิ้งลงถึงขยะที่มิดชิด จากนั้นต้องล้างมือเสมอ
8.เมื่อไอ จาม ต้องปิดจมูกถึงคางทุกครั้ง
9.ทำความสะอาดที่พักด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% หรือเช็ดผิวสัมผัสด้วยแอลกอฮอล์ 70%
10.ซักเสื้อผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียสแล้วตากแดด
กรณีที่ผลตรวจออกมาแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ขณะนั้นยังไม่มีเตียงว่าง ในระหว่างที่รอเตียงก็ปฏิบัติตัวตามแนวทางข้างต้นเช่นกัน แต่ต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น ต้องปฏิบัติให้ได้ 100% เมื่อตรวจพบว่ามีเชื้อ โดยหลักการแล้วตรวจที่ไหนโรงพยาบาลนั้นจะหาเตียงให้ก่อน
หากโรงพยาบาลไม่มีเตียงก็จะหาเตียงในโรงพยาบาลเครือข่าย ถ้าโรงพยาบาลเครือข่ายไม่มีเตียง ก็หานอกเครือข่ายผ่านศูนย์ประสานจัดหาเตียง ส่วนจะได้นอนในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับอาการ ถ้าอาการไม่หนักก็นอนโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับว่าตรงไหนมีเตียงว่าง โดยจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากซักประวัติและเอกซเรย์ปอดแล้วมีข้อสงสัยว่าปอดอักเสบ ก็จะย้ายไปนอนโรงพยาบาล
สำหรับผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอประสานหาเตียงนั้น ขอแนะนำว่าไม่ต้องโทรไปที่สายด่วนหลายแห่ง เพราะศูนย์บริหารจัดการเตียงขณะนี้คือศูนย์เอราวัณของ กทม. กรณีที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงก็จะโทรเข้าศูนย์นี้โดยตรงเพื่อประสานหาเตียงให้ ขณะที่สายด่วนอื่นๆ เช่น 1330, 1668 และแอปพลิเคชัน ไลน์ @sabaideebot ก็จะบันทึกข้อมูลและส่งไปศูนย์เอราวัณเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าโทรไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ต้องโทรไปสายด่วนอื่นๆ ก็ได้เพราะจะทำให้ข้อมูลซ้ำซ้อน ทุกวันนี้ศูนย์เอราวัณต้อง Clean ข้อมูลทุกวัน ซึ่งพบว่าเป็นข้อมูลซ้ำกว่า 50%