ผู้ป่วยมะกันดับ หลังเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ "ปอดติดโควิด" จากผู้บริจาค
หญิงชาวรัฐมิชิแกน ของสหรัฐฯ เสียชีวิตลง หลังเข้ารับการเปลี่ยนถ่าย “ปอด” จากผู้บริจาครายหนึ่ง เพียง 61 วัน และผลจากการตรวจสอบพบว่า “ปอด” ที่ได้รับบริจาคติดเชื้อโควิด-19
วันนี้ (25 ก.พ.64) หญิงผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ ต้องเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเร่งด่วน หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งเบื้องต้นไม่มีข้อบ่งชี้ว่าผู้บริจาคติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน เพราะผลจากการตรวจทรวงอกไม่พบความผิดปกติ อีกทั้งการตรวจเชื้อไวรัสบริเวณโพรงจมูกก็เป็นลบด้วย
แต่สาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้ป่วยหญิงรายนี้ อาการแย่ลงอย่างมากหลังผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายปอด?
แพทย์แห่งมหาวิทยาลัย Ann Arbor รัฐมิชิแกน จึงมานั่งทบทวน และพบข้อสรุปว่า ผู้บริจาค ไม่เพียงติดเชื้อโควิด-19 และปอดที่ติดเชื้อได้เข้าไปอยู่ในร่างกายผู้ป่วย แต่ยังทำให้ “ศัลยแพทย์ผ่าตัด” ติดเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน
นับเป็นกรณีแรก ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ!
เรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่ในนิตยสาร “The American Journal of Transplantation” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ดร.จูเลส ลิน ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนถ่ายปอดแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ผู้ดำเนินการผ่าตัดในครั้งนี้ ระบุว่า “เราต้องการให้มีความระมัดระวังเรื่องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมากขึ้น และต้องตรวจสอบเรื่องโรคโควิด-19 ด้วย โดยไม่เพียงแค่ตรวจทางโพรงจมูกเท่านั้น แต่ควรต้องตรวจเชื้อจากบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างด้วย”
ทั้งนี้ อวัยวะทุกชิ้นที่ได้รับบริจาคในสหรัฐฯ จะต้องถูกตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ดูแลรับผิดชอบโดยศัลยแพทย์ปลูกถ่าย แต่ทำโดยหน่วยงานไม่แสดวงหาผลกำไร
ขณะที่ห้องแล็บส่วนใหญ่ ปฏิเสธที่จะทำการเก็บตัวอย่างเชื้อจาก “ปอดส่วนล่าง” ในระหว่างที่เริ่มต้านการระบาดของโรค เนื่องจากหวาดกลัวว่ากระบวนการดังกล่าว อาจนำมาซึ่งการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
ศัลยแพทย์ลิน ซึ่งได้สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ระหว่างทำการผ่าตัดกรณีนี้ ซึ่งภายหลังได้มีข้อเสนอแนะว่าควรสวมหน้ากากฯ ประเภท N95 ในระหว่างขั้นตอนการผ่าตัด แม้ผลการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาจะเป็นลบแล้วก็ตาม และพบว่าเขาติดเชื้อระหว่างผ่าตัด โดยเขาได้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการรักษาอาการติดเชื้อภายในบ้าน ขณะที่สมาชิกในครอบครัว ไม่ติดเชื้อด้วยแต่อย่างใด
ทีมแพทย์ได้แต่หวังว่า เคสผู้ป่วยหญิงผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ จะเป็นเคสตัวอย่างที่ดีให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกแขนง ที่ควรต้องทำการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างจริงจัง จากทุกอวัยวะที่ได้รับบริจาค ไม่ว่ามันจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิตในห้องผ่าตัด