TNN อัปเดต"โควิด"ล่าสุด ผู้ที่เคยติดเชื้อเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้?

TNN

เกาะติด COVID-19

อัปเดต"โควิด"ล่าสุด ผู้ที่เคยติดเชื้อเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้?

อัปเดตโควิดล่าสุด ผู้ที่เคยติดเชื้อเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้?

หมอธีระ อัปเดตข้อมูลโควิด "EG.5.1" พบแล้ว 50 ประเทศทั่วโลก เตือนผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ มีอะไรบ้างเช็กที่นี่

หมอธีระ อัปเดตข้อมูลโควิด "EG.5.1"  พบแล้ว 50 ประเทศทั่วโลก เตือนผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ มีอะไรบ้างเช็กที่นี่


นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า อัปเดตโควิด-19 หลายเรื่องสำคัญ


1. รายงานสถานการณ์จาก WHO องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานล่าสุดเมื่อคืนนี้


ปัจจุบัน Omicron สายพันธุ์ย่อยที่ได้รับการเฝ้าระวังใกล้ชิด มีอยู่ 10 ตัว แบ่งเป็น 3 ตัวที่เป็น Variants of Interest (VOI) ได้แก่ XBB.1.5, XBB.1.16, และ EG.5.1


ซึ่ง EG.5.1 เป็นตัวที่คาดว่าจะนำไปสู่การระบาดทั่วโลกได้ในช่วงถัดจากนี้ และตอนนี้มีรายงานตรวจพบแล้ว 50 ประเทศทั่วโลก โดยมีสัดส่วนการตรวจพบสูงเป็นอันดับหนึ่งเทียบเท่ากับ XBB.1.16 ราว 21.1% 


ในขณะที่อีก 7 ตัวจัดเป็น Variants under Monitoring (VUM) ได้แก่ BA.2.75, BA.2.86, CH.1.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2, และ XBB.2.3


ทั้งนี้ BA.2.86 เป็นตัวล่าสุดที่เพิ่งได้รับการบรรจุมาเป็น VUM เพื่อจับตาเฝ้าระวัง เพราะเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เพิ่งตรวจพบเมื่อ 24 กรกฎาคม 2023 โดยมีตำแหน่งการกลายพันธุ์จำนวนมาก


หากลองเปรียบเทียบกัน BA.2.86 นั้นกลายพันธุ์แตกต่างไปจาก XBB.1.5 มากถึง 35 ตำแหน่ง และได้รับการประเมินว่า น่าจะมีสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากกว่า XBB.1.5 แต่สมรรถนะการจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายอาจพอๆ กันกับ XBB.1.5


หลายฝ่ายประเมินว่า BA.2.86 ไม่น่าจะกระจอก เพราะเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็มีรายงานตรวจพบทั้งในอิสราเอล เดนมาร์ก และล่าสุดที่รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ห่างไกลกันมาก และต่างทวีปกัน รวมถึงสอบสวนแล้วแต่ละรายก็ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่ามีการกระจายของสายพันธุ์นี้ไปแล้วในปัจจุบัน จึงต้องมีการจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด


2. การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune diseases)


ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายชิ้นจากทั่วโลก ทั้งจากสหรัฐอเมริกา เยอรมัน และสหราชอาณาจักร ที่ชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ตัวเองได้มากขึ้น 


งานวิจัยล่าสุด โดยทีมจากประเทศฮ่องกง เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ eClinicalMedicine เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา ศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ตัวเอง ในประชากรที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 1,028,721 คน กับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 3,168,467 คน ตั้งแต่เมษายน 2020 ถึง พฤศจิกายน 2022


สาระสำคัญพบว่า กลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ตัวเอง (เช่น ข้ออักเสบ, SLE, กระดูกสันหลังอักเสบ, สะเก็ดเงิน, รูมาตอยด์, เกล็ดเลือดต่ำ, ซีดแบบ pernicious anemia) มากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ถึง 30-166% แตกต่างกันไปในแต่ละโรค 


งานวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ และตอกย้ำให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ติดเชื้อแต่ละครั้ง อาจไม่จบแค่ป่วย แต่เสียชีวิตได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID อีกด้วย ซึ่งสามารถเกิดปัญหาได้แทบทุกระบบในร่างกาย รวมถึงเกิดโรคเรื้อรังตามมา เช่น เบาหวาน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ และอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับภูมิแพ้ตัวเองได้ด้วย


การป้องกัน Long COVID ที่ดีที่สุดคือ ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ

การฉีดวัคซีนจนครบตามกำหนดจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้บ้าง (ภาพที่ 5)

หากติดเชื้อ ก็รีบรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมตามมาตรฐานการแพทย์ ไม่หลงไปกับข่าวลวง ฟ้า กัญ สมุนไพร หรือยาผีบอกอื่นๆ ไม่ได้ช่วยอะไร

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก






ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ