เปิดงานวิจัยผู้ป่วยรับ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ผลลัพธ์แตกต่างจากกลุ่มได้ยาหลอกหรือไม่?
หมอธีระ เปิดผลงานวิจัยต่างประเทศพบกลุ่มที่ใช้ยา " ฟาวิพิราเวียร์ Favipiravir" เกิดปัญหากรดยูริคในเลือดสูง มากกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกถึง 7 เท่า
วันนี้( 8 ก.ย.65) ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า
"Favipiravir สำหรับโรคโควิด-19
Golan Y และคณะ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่สำคัญมาก เผยแพร่ในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อระดับโลก Clinical Infectious Diseases วันที่ 6 กันยายน 2565เป็นการศึกษาทางคลินิก แบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุม (Randomized double-blinded controlled trial) โดยทำแบบสหสถาบัน 27 แห่งในอเมริกา 7 แห่งในเม็กซิโก และอีก 7 แห่งในบราซิล
ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่จำนวน 1,187 คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งมีอาการน้อยถึงปานกลาง และศึกษาประสิทธิผลของ Favipiravir เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก
สาระสำคัญคือ ทั้งสองกลุ่มไม่ได้แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องระยะเวลาที่ใช้จนอาการดีขึ้น ระยะเวลาจนตรวจไวรัสไม่พบ สัดส่วนของคนที่ตรวจไม่พบไวรัสหลังสิ้นสุดการรักษา
ทั้งนี้กลุ่มที่ใช้ยา Favipiravir นั้นพบว่ามีอัตราการเกิดปัญหากรดยูริคในเลือดสูง มากกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกถึง 7 เท่า (19.9% ในกลุ่ม Favipiravir และ 2.8% ในกลุ่มที่ได้ยาหลอก)
ผลสรุปจากการวิจัยคือ กลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลางที่ได้รับยา Favipiravir นั้น มีผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้ยาหลอก
...ผลการศึกษานี้มีความสำคัญต่อเรื่องนโยบายการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ของแต่ละประเทศ และที่สำคัญยิ่งคือ เป็นความรู้ที่จะช่วยให้ประชาชนและผู้ป่วยได้ใช้ในการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ ตัดสินใจระหว่างการรับบริการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
อ้างอิง
Golan Y et al. Favipiravir in patients with early mild-to-moderate COVID-19: a randomized controlled trial. Clinical Infectious Diseases.
6 September 2022."
ภาพจาก รอยเตอร์ / Thira Woratanarat