"ลองโควิด" วัยรุ่นเจอปัญหามากกว่าเด็กเล็ก อาการผิดปกติที่พบบ่อยคือสิ่งเหล่านี้?
"หมอธีระ" เปิดข้อมูล วัยรุ่น 12-17 ปี จะพบว่าประสบปัญหา "ลองโควิด" (Long COVID) มากกว่าเด็กเล็ก และอาการผิดปกติที่พบบ่อย
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 25 สิงหาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 656,108 คน ตายเพิ่ม 1,746 คน รวมแล้วติดไป 602,985,345 คน เสียชีวิตรวม 6,478,268 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และไต้หวัน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 82.49 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 62.77
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดต Long COVID ในเด็ก
Dumont R และคณะ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยใน medRxiv เมื่อวานนี้ 24 สิงหาคม 2565
โดยศึกษาความชุกของ Long COVID ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 เปรียบเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อ
สาระสำคัญที่พบคือ เด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีปัญหา Long COVID ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ราว 9.1% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 6.7%-11.8%)
ทั้งนี้เด็กวัยรุ่น 12-17 ปี จะพบว่าประสบปัญหา Long COVID มากกว่าเด็กเล็ก
อาการผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่ ปัญหาด้านการดมกลิ่น การไม่มีสมาธิ และอาการปวดท้อง
ผลการศึกษานี้สะท้อนให้ผู้ปกครองและคุณครูเห็นถึงความสำคัญในการดูแลเด็ก ให้ความรู้ ฝึกทักษะในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ปรับสภาพแวดล้อมให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี
หากเด็กๆ เคยติดเชื้อมาก่อน ผู้ปกครองก็ควรสังเกต ประเมินสุขภาพของเด็กทั้งด้านกาย อารมณ์ สมาธิ ฯลฯ ถ้าพบสิ่งผิดปกติ จะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
...สถานการณ์ไทยเรานั้น การที่จะประคับประคองให้เรามีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต จำเป็นต้องมีความใส่ใจด้านสุขภาพ หรือ Health consciousness
สภาพแวดล้อมในสังคมระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวันนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าในอดีต การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ไม่ว่าจะทำงาน พบปะ ศึกษาเล่าเรียน และอื่นๆ พยายามเว้นระยะจากกันไว้บ้าง ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง และพกสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ล้างมือหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะ
ใครที่มีอาการไม่สบาย ควรแจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ เลี่ยงการพบปะกับผู้อื่นไปก่อน ก็จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย
โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
ติดแล้ว ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ แม้ฉีดวัคซีนมาแล้วหรือเคยติดเชื้อมาก่อนแล้วก็ตาม การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ
ปัญหาอาการผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID เป็นเรื่องที่ควรตระหนักไว้เสมอ เพราะจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และประเทศ
อ้างอิง
Dumont R et al. Post-COVID syndrome prevalence and risk factors in children and adolescents: A population-based serological study. medRxiv. 24 August 2022
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก TNN ONLINE / รอยเตอร์