TNN เปิดอาการเด่น "โอมิครอน BA.4 -BA.5" ยาฉีด Evusheld เข้าไทยสัปดาห์หน้า!

TNN

เกาะติด COVID-19

เปิดอาการเด่น "โอมิครอน BA.4 -BA.5" ยาฉีด Evusheld เข้าไทยสัปดาห์หน้า!

เปิดอาการเด่น โอมิครอน BA.4 -BA.5 ยาฉีด Evusheld เข้าไทยสัปดาห์หน้า!

อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดอาการเด่น "โอมิครอน BA.4 - BA.5" เผยยาฉีด "Evusheld" เข้าไทยสัปดาห์หน้าพร้อมกระจายทันที

ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19  ภาพรวมการติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยไทยได้เฝ้าระวังการติดเชื้อภายในแถบเอเชียที่พบแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วน ภาพรวมแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19ในไทย ที่กำลังรักษาในสัปดาห์นี้ จะใกล้เคียงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้มีผู้เสียชีวิตโควิด-19 จำนวน 17 ราย และมีผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบ 794 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 369 ราย

ส่วนผู้ป่วยนอก ในระบบ  OPHI  หรือที่มีการตรวจหาเชื้อ ATK ด้วยตัวเองและเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 143,827  ราย 

โดยผู้เสียชีวิตโควิด-19 ส่วนใหญ่ยังคงผู้ป่วย 60 ปีขึ้นไปอยู่ และส่วนใหญ่ยังได้รับวัคซีนโควิดไม่ครบถ้วน หรือยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ส่วนระยะหลังในกลุ่มผู้ป่วยผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ที่ได้รับเข็มกระตุ้นเกิน 3-4 เดือนแล้วยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นต่อนั้น พบภูมิคุ้มกันลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล ขณะนี้เน้นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองคือในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวอาการไม่คงที่  

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจในโรงพยาบาล จะเห็นว่าอัตราการครองเตียงระดับ2-3  ขณะนี้ มากที่สุด อยู่ในจังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 49.70 รองลงมา คือ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 47.30 จังหวัดปทุมธานีอัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ร้อยละ 36.50 สมุทรปราการอัตราครองเตียงอยู่ที่ 31.80

อย่างไรก็ตาม หลังหยุดยาวกลับมาทำงานตามปกติ ขอให้หน่วยงาน สถานประกอบการพิจารณาให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และไม่แสดงอาการ  แต่มีอาการป่วยเล็กน้อยให้แยกกักตัวที่บ้าน 7 วัน และหลังจากนั้นกลับมาทำงานได้ โดยช่วง 3 วันแรกให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเลี่ยงเข้าร่วมกิจกรรมกับคนจำนวนมาก หรือทำงานที่บ้านในรูปแบบ 7 วัน + 3 วัน

โดยขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลโดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์หลังวันหยุดยาวแล้วกลับเข้ามาทำงาน ที่มีความจำเป็นต้องไปร่วมกิจกรรมคนจำนวนมากหรืออยู่ในสถานที่ปิดให้มีการใส่หน้ากากอนามัย

อธิบดีกรมควบคุมโรคยังได้อธิบายถึง อาการเด่น โอมิครอน BA.4/BA.5  จะมีอาการเจ็บคอ คันคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตัว คล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถ้ากลุ่มวัยหนุ่มสาว มีอาการดังกล่าวขออย่านิ่งนอนใจขอให้ตรวจ ATK ทันที ส่วนคนที่ไม่มีอาการ ยังคงไม่จำเป็นต้องตรวจ แต่จะตรวจในคนที่ต้องใกล้ชิดกับผู้สูงอายุในกลุ่มที่ต้องใกล้ชิดผู้สูงอายุคนที่ดูแลผู้ป่วย สามารถตรวจเป็นประจำได้

ส่วนการป้องกันลดอาการป่วยหนักสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ในกลุ่มผู้สูงอายุ 608 ที่เริ่มมีอาการป่วยหรือเริ่มมีสัญญาณอาการป่วยรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับยาต้านไวรัสทันเวลา และลดการเสียชีวิตแม้จะไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย แอนติบอดี้สำเร็จรูป หรือ  Evusheld เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานไม่ดีอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะฉีดเข้าเข้า กล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1.5 มิลลิลิตร  มีภูมิอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน สามารถฉีดได้ตั้งแต่ อายุ 12 ปีขึ้นไป ในน้ำหนัก 40 กิโลกรัมขึ้นไป  คาดว่า จะป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อได้ โดยยาดังกล่าวจะมาถึงไทยในสัปดาห์หน้า 

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เตรียมความพร้อมซักซ้อมความเข้าใจกับสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถึงข้อบ่งชี้ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับยาดังกล่าว  และเมื่อยา มาถึงก็จะกระจายทันที  ย้ำการพิจารณาให้ยาจะคำนึงถึงผลประโยชน์ความเสมอภาคและความเป็นไปได้ 

ด้าน รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mathematic Modeling สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึง ประสิทธิผลวัคซีนโควิด ในช่วงสถานการณ์โอมิคอนระบาดภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก4เดือน ส่วนปลการวิจัยของ สถาบัน MRC  พบว่า วัคซีนโควิดสามารถป้องกันการเสียชีวิต และการป่วยหนักได้ร้อยละ95 

ส่วนของไทย จากการรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่ช่วง เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายนของปี 64 พบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้  382,600 คน แต่หากเทียบการให้วัคซีนโควิดครั้งแรกในช่วงเดลต้าระบาดกับในช่วงโอมิครอนระบาด พบว่าสามารถช่วยลดการเสียชีวิตได้อยู่ที่ 490,000 คน ซึ่งมีข้อมูลชัดเจน แล้วว่าในกลุ่มผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิดแล้ว จะเสียชีวิตหากไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น





ภาพจาก AFP/สธ.


ข่าวแนะนำ