เปิด 4 เกณฑ์พิจารณา โควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น"
ศูนย์ข้อมูล COVID-19 เปิดเกณฑ์พิจารณา โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คน/วัน
วันนี้( 26 มิ.ย.65) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,378 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,376 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 0 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 0 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 3,521 ราย
- เสียชีวิต 17 ราย เป็นเพศชาย 12 ราย เพศหญิง 5 ราย สัญชาติไทย 16 ราย จีน 1 ราย อายุเฉลี่ย 62 ปี อายุระหว่าง 46-95 ปี แยกเป็น ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ราย คิดเป็น 59% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 7 ราย คิดเป็น 41%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 4,514,155 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 1,834 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 30,592 ราย
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น โดยมีเกณฑ์พิจารณาดังนี้
1. ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คน/วัน
2. อัตราป่วยตาย น้อยกว่า 0.1%
3. ผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า 10%
4. กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่า 80%
4 ส่วน เตรียมพร้อม เมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่น
1.ประชาชน ต้องยึดมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention และ Universal Vaccination
2. สถานประกอบการ ได้แก่ โรงเรียน สถานที่ทำงาน สถานบริการต่าง ๆ ยึดมาตรการ COVID Free Setting ผู้ให้รับบริการรับวัคซีนตามเกณฑ์ และมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นระยะ ๆ
3.กระทรวงสาธารณสุข ยึดหลัก 3 พอ เตียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิดและผู้ป่วยทั่วไป ยาและวัคซีนเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ
4.โรงพยาบาล ปรับหอผู้ป่วยโควิดเป็นหอผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป
ที่มา ศูนย์ข้อมูล COVID-19
ภาพจาก AFP/รอยเตอร์