ใช้ยาแพกซ์โลวิดรักษา “Long COVID” 2 ใน 3 รายอาการดีขึ้น
วิจัยสหรัฐแนะศึกษาเพิ่มเติมกรณีใช้ยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์รักษาอาการ “Long COVID” หลังพบ 2 ใน 3 รายอาการดีขึ้น
วันนี้(6 พ.ค. 65) คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF) ของสหรัฐเปิดเผยในรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยอาการลองโควิด “Long COVID” ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ มีแนวโน้มอาการดีขึ้นในช่วงการทดลองทางคลินิก อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัยแนะให้มีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากผลการทดลองทางคลินิกกับผู้ป่วยลองโควิดจำนวน 3 ราย ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน
ข้อมูลผลการศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 3 รายได้รับเผยแพร่บนเว็บไซต์รีเสิร์ช สแควร์ (Research Square) โดยระบุว่า พบผู้ป่วยลองโควิดมีอาการดีขึ้น หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิดเมื่อเริ่มป่วย โดยยาดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะป่วยขั้นรุนแรง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้ง 3 รายซึ่งมีอายุประมาณ 40 ปี และได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาก่อน ได้ลงทะเบียนร่วมวิจัยเพื่อศึกษาอาการลองโควิดกับ USCF
คณะนักวิจัยของ UCSF ระบุถึงผู้ป่วยทั้ง 3 รายที่มีอาการลองโควิดในรายงานที่เผยแพร่ โดยดร.ไมเคิล เพลูโซ ระบุว่า ผู้ป่วย 2 รายในจำนวนนี้ได้รับยาแพกซ์โลวิด แล้วรู้สึกว่าอาการป่วยลองโควิดดีขึ้นมาก
ส่วนผู้ป่วยรายที่ 3 นั้นได้รับยาแพกซ์โลวิดเพื่อรักษาอาการโควิดที่รุนแรง โดยพบว่า มีอาการดีขึ้นในช่วงแรก แต่หลังจากหยุดทานยาได้ไม่นาน ผู้ป่วยรายนี้กลับมามีอาการลองโควิด
"เรามีความหวังมากว่า การใช้ยารักษาโควิดตั้งแต่ระยะแรกที่ผู้ป่วยยังไม่เริ่มแสดงอาการนั้นจะช่วยป้องกันลองโควิดได้ นอกเหนือจากป้องกันอาการป่วยที่รุนแรง ข้อมูลนี้อาจถูกต้อง แต่ในเคสนี้แสดงให้เห็นว่า อาจไม่จริงเสมอไป"
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยยังไม่ได้สรุปผลการทดลอง แต่ได้ข้อบ่งชี้ถึงอาการลองโควิด โดยดร.เพลูโซกล่าวว่า "ข้อมูลที่ได้ทำให้เราต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยใช้วิธีการทดลองแบบสุ่ม"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลการวิจัยพบว่า 30% ของที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยอาการลองโควิด โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นนานหลายเดือน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย, ใจเต้นเร็ว, หายใจหอบถี่, เจ็บป่วยเรื้อรัง, ภาะสมองล้า และกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยกลุ่มอาการดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยและรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยเด็ก และอาจรุนแรงมากจนถึงขั้นที่ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องออกจากงาน
ทางด้านนายคิท ลองเลย์ โฆษกของไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทยังไม่ได้ทำการศึกษาเรื่องลองโควิดในขณะนี้ แต่กำลังติดตามข้อมูลการทดลองทางคลินิกและหลักฐานที่มีอยู่ โดยอาจค้นคว้าประเด็นนี้เพิ่มเติมในอนาคต
ภาพจาก : AFP