TNN โอมิครอน XE หากแพร่เชื้อเร็ว จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยหรือไม่?

TNN

เกาะติด COVID-19

โอมิครอน XE หากแพร่เชื้อเร็ว จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยหรือไม่?

โอมิครอน XE หากแพร่เชื้อเร็ว จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยหรือไม่?

"หมอเฉลิมชัย" เปิดข้อมูลไวรัสสายพันธุ์ย่อยลูกผสมโอมิครอน XE จับตาหากแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จริง จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในไทยต่อไปหรือไม่?

วันนี้ (3 เม.ย.65) นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า ล่าสุด ไทยพบ Omicron XE รายแรกแล้ว

จากที่องค์การอนามัยโลกได้รายงานการตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยใหม่คือ Omicron XE ซึ่งเป็นลูกผสมที่เกิดจากการรวมกันของสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1) และสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2)

โดยเริ่มพบที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2565 จำนวน 637 ราย และได้รายงานอย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น

ข้อมูลเบื้องต้น (ที่ยังไม่สามารถจะสรุปอย่างเป็นทางการได้) พบว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (OMC XE : Omicron XE) มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่า BA.2  10% และแพร่เร็วกว่าไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์หลักเดิม (B.1.1.529) 43%

จึงทำให้ทุกประเทศจะต้องติดตามข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่กันอย่างใกล้ชิดต่อไป

เพราะในทุกครั้งที่มีการตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์หลักเดิม ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดของไวรัสสายพันธุ์หลักของการระบาดในที่สุด ได้แก่

1) ไวรัส Alpha แพร่เร็วกว่าอู่ฮั่น 70% ในช่วงเมษายน 2564 ประเทศไทยก็มี Alpha เป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์อู่ฮั่น

2) ไวรัส Delta แพร่เร็วกว่าไวรัส Alpha 60% ในช่วงปลายปี 2564 Delta ก็เป็นสายพันธุ์หลักแทนสายพันธุ์ Alpha

3) ไวรัส Omicron แพร่เร็วกว่าไวรัส Delta 4-8 เท่า ในช่วงมกราคม 2565 ไวรัส Omicron ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนไวรัส Delta

ในช่วงที่ Omicron ระบาดนั้น ช่วงแรกสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่ง (BA.1) เป็นสายพันธุ์หลักก่อน ในเวลาไม่นานนักสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) ก็ปรากฏขึ้นในประเทศไทย และด้วยความสามารถที่แพร่เร็วกว่า 30-40% ในขณะนี้ BA.2 ก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปเรียบร้อยแล้ว

ถ้าไวรัสสายพันธุ์ย่อยลูกผสม Omicron XE แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยที่สอง (BA.2) จริง ก็สามารถคาดคะเนได้ว่า  ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแพร่ระบาด ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความรุนแรงในการก่อโรค และการดื้อต่อวัคซีน

ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ของไทย ได้รายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัส Omicron XE เคสแรกของประเทศไทยแล้ว

โดยเป็นผู้ติดเชื้อชาวไทย ที่อยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวคือ มีอาการเล็กน้อย และหายดีเรียบร้อยแล้ว

เมื่อพบเคสแรกแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ไม่ยากว่า จะมีการแพร่ระบาดต่อไปในที่สุด

ส่วนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.2 หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

เพราะถ้าสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่า ก็จะส่งผลกระทบ ทำให้การเข้าสู่จุดสูงสุดในระลอกที่สี่หรือระลอกมกราคม 2565 ล่าช้าออกไปอีก

ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค การดื้อต่อวัคซีน ก็จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันต่อไป

ในกรณีที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในมิติการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค ตลอดจนการดื้อต่อวัคซีน ทางองค์การอนามัยโลกก็จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งตั้งชื่อเป็นอักษรกรีกโบราณลำดับถัดไปคือ “พาย” (Pi)

Reference

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์



ข้อมูลจาก blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ