TNN ศูนย์จีโนมฯย้ำ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม ยกตัวอย่างเคส HIV

TNN

เกาะติด COVID-19

ศูนย์จีโนมฯย้ำ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม ยกตัวอย่างเคส HIV

ศูนย์จีโนมฯย้ำ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม ยกตัวอย่างเคส HIV

ศูนย์จีโนมฯย้ำ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการจบเกมระบาด พร้อมยกตัวอย่างเคส HIV คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอยู่ร่วมกับโรคอย่างระวัง

วันนี้ (17 มี.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความระบุว่า โรคประจำถิ่น (Endemic)  ในมุมมองของ WHO  ไม่ได้มีความหมายในทาง “ดี” ไม่ได้หมายถึงการจบเกม (Endgame) ของโรคโควิด-19

จุลชีพที่เดิมมี “การระบาดไปทั่วโลก (Pandemic)” เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์  เชื้อไมโครแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซีส (TB) ที่ก่อให้เกิดวัณโรคปอด  และเชื้อมาลาเรีย (Malaria) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้จับสั่น ปัจจุบันได้กลายสภาพเป็น “โรคประจำถิ่น” ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ก็ยังสามารถทำให้มนุษย์จำนวนนับล้านคนต้องจบชีวิตลงในทุกปี เราต้องใช้เวลา 20-30 ปี และงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในการที่จะสร้างมาตรการป้องกัน ดูแล และรักษาประชาชนทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จำกัดการระบาดของจุลชีพเหล่านี้ให้อยู่ในโหมดที่เรียกว่า “โรคประจำถิ่น (Endemic)  

WHO มองว่าการปรับเปลี่ยนจากภาวะ “การระบาดไปทั่วโลก (Pandemic)” มาเป็น “โรคประจำถิ่น (Endemic)  เป็นเสมือนการเปลี่ยนการเรียกชื่อ แต่มาตรการป้องกัน  ดูแล  และรักษา ยังต้องรัดกุม แม้ไม่ถึงขั้นต้องปิดประเทศ งดงานเลี้ยง งานชุมนุมต่างๆ หรือใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองให้อยู่ร่วมกับจุลชีพเหล่านี้ให้จงได้

เมื่อ 10 มีนาคม 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาย้ำเตือนและขอความร่วมมือจากทุกประเทศทั่วโลกผ่าน “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์” ในหลายเรื่อง https://www.facebook.com/CMGrama/posts/4895931630514578

หนึ่งในหัวข้อสำคัญคือความหมายของคำว่าโรคประจำถิ่น (Endemic)

ทาง WHO แถลงว่า “โรคประจำถิ่น” อันหมายถึงโรคติดเชื้อที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจนระบบสาธารสุขของแต่ละประเทศสามารถควบคุมได้ มีการระบาดหนักบ้างเบาบ้างเกิดเป็นช่วงๆที่พอคาดการณ์ได้ เช่น ตามฤดูกาล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการยุติการระบาดหรือต้องสามารถกำจัดตัวเชื้อก่อโรคให้สูญสลายไปจากโลก ในประวัติศาสตร์ของโลก ไวรัสที่มนุษย์สามารถปราบให้สูญสิ้นลงได้มีเพียงตัวเดียวคือ “ไวรัส Variola” ที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษ ด้วยการปลูกฝีป้องกัน 

หมายเหตุ

กรณีของเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ เดิมมีการระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ในที่สุด ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาทต่อปีในการป้องกัน ควบคุม และรักษา เช่น การตรวจวินิจฉัย CD4, viral load, และการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อดูว่าไวรัสดื้อต่อยาต้านไวรัสแล้วหรือไม่ และสามารถปรับเปลี่ยนยาหากเชื้อดื้อยาได้ทันท่วงที รวมทั้งมีการจัดหายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ มีการผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีบางประเภทขึ้นใช้ในประเทศโดยองค์การเภสัชกรรม  และเราได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี  เช่น ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับกลุ่มเสี่ยง หรือหากไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยกับกลุ่มเสี่ยงหรือเกิดอุบัติเหตุสัมผัสเลือดผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็รีบไปรับยาต้านไวรัสมารับประทานในทันที มีการตรวจกรองเลือดบริจาคให้ปราศจากเชื้อจุลชีพต่างๆรวมทั้งเอชไอวีก่อนให้กับผู้ป่วยที่ต้องการเลือด เป็นต้น

ดังนั้นในกรณีของไวรัสโคโรนา 2019  ที่ทางภาครัฐจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นเร็วๆนี้นั้นคาดว่าคงเพราะจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนน้อยกว่า 1 คนในจำนวนประชากร 1 ล้านคน เพื่อสามารถขยับขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพจิต รวมถึงการรักษาอาการที่ตามมาหลังหายป่วยจากโควิด-19 หรือ “ลองโควิด (Long COVID)” ให้ประเทศเราสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยคาดว่าประชาชนคนไทยคงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างเพื่ออยู่ร่วมกับไวรัสโคโรนา 2019 ตัวนี้ให้ได้ 

https://www.youtube.com/watch?v=kA_03nRcvm8



ข้อมูลจาก :  ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ 

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ