TNN กรมการแพทย์เตรียมกระจาย "ยาโมลนูพิราเวียร์" พร้อมเผยผลข้างเคียง?

TNN

เกาะติด COVID-19

กรมการแพทย์เตรียมกระจาย "ยาโมลนูพิราเวียร์" พร้อมเผยผลข้างเคียง?

กรมการแพทย์เตรียมกระจาย ยาโมลนูพิราเวียร์ พร้อมเผยผลข้างเคียง?

กรมการแพทย์ เผย เตรียมกระจาย "ยาโมลนูพิราเวียร์" พร้อมเผยผลข้างเคียงหลังรับยา ส่วนยาแพกซ์โลวิดมาถึงไทยเดือนเมษายนนี้

วันนี้( 16 มี.ค.65) ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงความคืบหน้ายาโมลนูพิราเวียร์ ว่า ยาถึงไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 50,000 คอร์ส หรือ รักษาผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 50,000 คน คนละ 40 เม็ด กินยาวันละ 8 เม็ดแบ่งเป็น เช้า 4 เม็ด เย็น 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน 

โดยวันนี้ จะมีการหารือเรื่องการกระจายยาและแนวทางการใช้ยาอย่างละเอียด เบื้องต้นกระจายยาไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่วนในพื้นที่กทม.หน่วยงานหลัก คือ โรงพยาบาลหลักสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลสังกัด สำนักการแพทย์ กทม.และโรงเรียนแพทย์ 

เบื้องต้น จะมีการพิจารณาจะมีการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกลุ่ม 608 แต่วันนี้อาจจะมีการปรับการให้ยาโมลนูพิราเวียร์ให้กับประชาชนในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งผลข้างเคียงเบื้องต้นพบมีอาการคลื่นไส้  อาเจียน แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยาในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปีและหญิงตั้งครรภ์ 

อย่างไรก็ตามจะมีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพแบบ คู่ขนาน ระหว่างยาโมลนูพิราเวียร์  และยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อที่อนาคตจะได้ม่ข้อมูลในการใช้ยาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยโควิดว่าควรใช้ยาตัวใด 

ทั้งนี้ การจ่ายยาโมลูพิราเวียร์และฟาวิพิราเวียร์จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และอาการของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยหากไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องรับยาทั้ง 2 ชนิด  ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมอยู่ระหว่างการพูดคุยกับบริษัทผลิตยาในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตสิทธิ์การผลิตยาจากบริษัทเมอร์ค ซึ่งจะมีราคาถูกกว่า แต่เน้นย้ำให้องค์การเภสัชกรรมตรวจสอบคุณภาพยาก่อนทำการจัดซื้อเพิ่มเติมในอนาคต

ส่วนความคืบหน้ายาแพกซ์โลวิด นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า ครม.ได้ให้อำนาจกรมการแพทย์เป็นผู้ลงนามจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดกับบริษัทไฟเซอร์ จำนวน 50,000 คอร์ส ซึ่งยาแพกซ์โลวิด ต้องใช้ควบคู่กับยาริโทนาเวียร์ โดยใช้ยาแพล็กโลวิด 30 เม็ดต่อคน แบ่งเป็นวันละ 6 เม็ด เช้า 3 เม็ด , เย็น 3 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน คาดว่ายาแพกซ์โลวิดจะมาถึงไทยในเดือนเมษายน 

ส่วนการดำเนินงานเจอ แจก จบ หรือผู้ป่วยนอก OPD มีจำนวนผู้ป่วยมาใช้บริการในโรงพยาบาล กรมการแพทย์เพิ่มขึ้น คือ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาล นพรัตน์ และ โรงพยาบาลราชวิถี เฉลี่ย 1 พันคนต่อวัน แต่หากรวมโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งจะรองรับได้ 5,000 คนต่อวัน




ภาพจาก ผู้สื่อข่าว TNN ช่อง 16 / AFP


ข่าวแนะนำ