TNN อัปเดตสถานการณ์เตียงโควิดล่าสุด อัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 39.6

TNN

เกาะติด COVID-19

อัปเดตสถานการณ์เตียงโควิดล่าสุด อัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 39.6

อัปเดตสถานการณ์เตียงโควิดล่าสุด อัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 39.6

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผย คปภ.และฝ่ายท่องเที่ยว ได้หารือพิจารณาให้บริษัทประกันสุขภาพในไทย ทำแพ็กเกจเสนอให้ครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ในไทย เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเฉพาะชาวต่างชาติ พิจารณาซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษา ขณะเดียวกันเตรียมขยาย Hotel isolation สำหรับกลุ่มที่ไม่มีอาการซึ่งสามารถเบิกจ่ายเหมือนกับ HI

วันนี้ (11 ม.ค.65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุถึงสถานการณ์เตียงใน Hospitel กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีประมาณ 116 แห่ง ทั้งหมด 30,000 เตียง ซึ่งในขณะนี้ยังมีจำนวนเตียงว่างเป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมามี Hospitel ทยอยปิดตัวลงไปบ้างเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้บริการ 

แต่ขณะนี้พบว่า มีโรงแรมมาขอเปิดเพิ่มเป็นระยะ กรณีประชาชนที่จะเข้ารักษาใน Hospitel ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เป็นผู้ประเมินอาการและสภาพแวดล้อมที่บ้านด้วย 

ส่วนกรณีการซื้อประกันสุขภาพหรือประกันโควิด ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ถึงการวินิจฉัยอาการโรค หากพบติดเชื้อ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพราะถือเป็นสถานพยาบาลประเภทหนึ่งในการรักษาผู้ป่วย คนไข้ที่ติดเชื้อมีสิทธิ์ที่จะได้การคุ้มครองดูแล ตามสิทธิ์ประกันต่างๆที่ได้มีการซื้อไว้ 

กรณีผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ซื้อประกันสุขภาพก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยแต่ไม่ครอบคลุมในการรักษาหากพบการติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิค-19 ในประเทศไทยตอนนี้ หากติดเชื้อมีอาการหรือไม่มีอาการ จะเข้าสู่การรักษา HI /CI หรือ Hospitel 

แต่ส่วนใหญ่ที่พบปัญหา คือกรมธรรม์ของชาวต่างชาติ หากติดเชื้อแล้วไม่มีอาการก็จะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษา 

โดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนวทาง คือ ได้หารือ กับ คปภ. เสนอให้มีบริษัทประกันสุขภาพของคนไทย ให้ทำแพ็กเกจครอบคลุมการรักษาโควิด-19 ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 10 กว่าบริษัท

โดยจะเสนอข้อมูลดังกล่าวให้กับฝ่ายท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ให้พิจารณาซื้อประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมการรักษาในประเทศไทย ซึ่งจะง่ายต่อการเบิกจ่ายค่ารักษาอีกด้วย ซึ่งบริษัทประกันต่างประเทศบางบริษัทจะให้ผู้ติดเชื้อสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อน ทำให้เกิดความไม่สะดวกกับผู้ป่วย รวมถึงบริษัทประกันต่างชาติผลการคุ้มครองจะต้องรอ 7-10 วัน

แนวทางที่ 2 เมื่อมาถึงสนามบิน หากตรวจพบไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาในไทย ก็จะให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันสุขภาพกลุ่มนี้ โดยการคุ้มครองจากมีผลทันที โดยช่วง บ่ายวันนี้จะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงการท่องเที่ยวจะเป็นผู้รับผิดชอบ หากเห็นชอบก็จะได้ออกเป็นมติต่อไป 

"ตอนนี้ได้มีการแก้ไข ปัญหาที่พบประกันไม่ครอบคลุมการศึกษานักท่องเที่ยวเช่นที่จังหวัดชลบุรีได้มีการเปิด Hotel isolation ซึ่งเป็นโรงแรมที่เปิดรองรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้วกลับมาเป็นห้องพักที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ซึ่งระบบการดูแลในลักษณะนี้จะเหมือนกับ HI มียามีเวชภัณฑ์และจะมีแพทย์ตรวจติดตามอาการผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงอาหาร 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายเอง" นพ.ธเรศ กล่าว

ขณะเดียวกันในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาปรับค่าใช้จ่าย Hospitel ซึ่งเป็นการปรับอัตราให้เหมาะสม รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

ทั้งนี้ Hospitel ก็จะเป็นอีกระบบนึงที่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กในการดูแลผู้ป่วย 

ส่วนความกังวลของประชาชนที่ซื้อประกันสุขภาพหรือประกันโควิด-19 ไว้แล้ว กลัวว่าจะไม่ได้รับวงเงินหากทำการรักษาที่บ้าน อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า เบื้องต้นได้รับทราบถึงปัญหาแล้ว และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อหารือกับคปภ.เพื่อพิจารณา 

ทั้งนี้ โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยว จากเดิมที่ได้เตรียมไว้รองรับนักท่องเที่ยวไว้อาจจะมีบางส่วนที่ปรับเข้าสู่ระบบ Hotel isolation มากขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งค่าใช้จ่ายยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ที่สปสช.กำหนดให้ไว้อยู่ที่ 1,000 บาทต่อคน

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบายเพิ่มเติมว่า Hospitel วางไว้ในการดูแลผู้ติดเชื้อ รองจากโรงพยาบาล จัดมีทีมแพทย์เจ้าหน้าที่ประจำ แต่ Hotel isolation เป็นรูปแบบที่ปรับมาจากระบบ HI ที่พบว่า มาจากผู้ติดเชื้อไม่สะดวกรักษาตัวที่บ้าน แต่อยากเข้ารับการรักษาแบบ HI

สำหรับการรักษาดูแลต่างๆ จะคล้ายกับระบบ HI แค่เปลี่ยนนอนจากที่บ้านเป็นนอนในโรงแรม ก็จะเป็นในส่วนโรงแรม 2-3 ดาวขนาดเล็กที่พอจะรองรับได้ ซึ่งระบบดังกล่าวใช้ได้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทยแต่จะเหมาะกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากกว่า ที่ประกันไม่ครอบคลุมการรักษา

ขณะที่ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ สถานการณ์เตียงกรุงเทพฯและปริมณฑล วันที่ 10 มกราคม 2565 รวมทุกประเภท เตียงทั้งหมด 31,701 เตียง ครองเตียงไปแล้ว 10,874 เตียง เตียงว่าง 19,133 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 39.6 แบ่งเป็น

- เตียงไอซียู ห้องความดันลบ เตียงทั้งหมด 232 เตียง ครองเตียง 49 เตียง เตียงว่าง 191 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 17.7 

- ห้องดัดแปลงความดันลบ เตียงทั้งหมด 1,184 เตียง ครองเตียง 409 เตียง เตียงว่าง 796 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 32.8 

- ห้องไอซียูรวม เตียงทั้งหมด 470 เตียง ครองเตียง 29 เตียง เตียงว่าง 441 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 6.2 

- ห้องแยกโรค  เตียงทั้งหมด 3,964 เตียง ครองเตียง 1,320 เตียง เตียงว่าง 2,644 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 33.3 

- ห้องสามัญ เตียงทั้งหมด 8,223 เตียง ครองเตียง 3,690 เตียง เตียงว่าง 4,533 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 44.9 

- Hospitel เตียงทั้งหมด 16,084 เตียง ครองเตียง 6,711เตียง เตียงว่าง 9,373 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 41.7 

- เตียงสนาม มีเตียงทั้งหมด 1,544 เตียง ครองเตียง 389เตียง เตียงว่าง 1,155 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 25.2

อัปเดตสถานการณ์เตียงโควิดล่าสุด อัตราครองเตียงอยู่ที่ร้อยละ 39.6



ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ