TNN จีนเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาลให้ต่างชาติถือหุ้น 100% โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาลให้ต่างชาติถือหุ้น 100% โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาลให้ต่างชาติถือหุ้น 100% โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาลให้ต่างชาติถือหุ้น 100% โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ภายใต้นโยบาย Healthy China 2030 จีนพยายามผลักดันการดำเนินการในหลายส่วนไปพร้อมกัน อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมยา และความปลอดภัยด้านอาหารและยา รวมไปถึงบริการรักษาสุขภาพสาธารณะ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลเชิงป้องกัน เพื่อหวังสร้างให้ชาวจีนมี “วิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ” ใน “เมืองสุขภาพ” เป็นต้น ...


เพื่อให้สามารถจัดการกับความต้องการภายในประเทศที่มากมายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และทำให้ “ความฝัน” ตามนโยบายดังกล่าวเกิดเป็นความจริง จีนก็ตั้งเป้าการพัฒนาบริการโรงพยาบาลในจีนให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ดีอย่างแพร่หลายในจีน


นอกจากการพัฒนาบริการของโรงพยาบาลภาครัฐแล้ว รัฐบาลจีนยังพยายามพัฒนาบริการการรักษาพยาบาลของภาคเอกชน โดยกลยุทธ์หนึ่งก็ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลของต่างชาติเพื่อเข้ามาเสริมพลัง อันนำไปสู่การเปิดเสรีธุรกิจโรงพยาบาลตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก ซึ่งเกิดเป็นรูปธรรมโดยลำดับ


โดยนับแต่ปี 2000 รัฐบาลจีนได้ “นำร่อง” อนุญาตให้นักลงทุนท้องถิ่นสามารถจัดตั้งสถาบันการแพทย์แบบร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติได้ ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการแพทย์แบบร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติรวมมากกว่า 60 แห่งในหลายหัวเมืองของจีน


และเมื่อเดือนกันยายน 2024 จีนก็ยังดำเนินนโยบาย “นําร่อง” ในการเปิดให้กิจการต่างชาติสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้บริการเซลล์และยีนส์บำบัดในเขตการค้าเสรี (Free Trade Zones) ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และไฮ่หนาน พร้อมยังสร้างความฮือฮาเมื่อมีกระแสข่าวว่า จีนอนุญาตให้โรงพยาบาลที่ต่างชาติถือหุ้นทั้งหมดเข้ามาให้บริการในบางเมืองของจีนอีกด้วย 


เรากำลังพูดถึงการเปิดตลาดการดูแลสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดระดับไฮเอนด์ที่มีศักยภาพสูง เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะทำให้ความต้องการบริการพรีเที่ยมจะขยายตัวต่อไปอีกนาน 


จนกระทั่งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2024 ภาพต่างๆ ก็ชัดเจนขึ้นเมื่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Commission) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีก 3 แห่งได้เปิดเผยถึงแผน “นำร่อง” ในการอนุญาตให้จัดตั้งโรงพยาบาลที่เป็นของต่างชาติแบบ 100% ใน 9 เมือง/พื้นที่สำคัญของจีน 


อาทิ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ หนานจิง ซูโจว ฝูโจว กวางโจว และเซินเจิ้น รวมถึงไฮ่หนาน ซึ่งเป็นที่ตั้งที่มีประชากรหนาแน่นและมีความต้องการด้านสุขภาพค่อนข้างสูงและหลากหลาย 


หากท่านผู้อ่านติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิดก็อาจพบว่างานนี้มีควันหลงของการ “แย่งซีน” กันอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงการแข่งขันระหว่างหัวเมือง/พื้นที่ต่างๆ ของจีนได้เป็นอย่างดี โดยภายหลังจากที่รัฐบาลเมืองเซินเจิ้นได้ประกาศข้อตกลงที่จะนําไปสู่การจัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เป็นเจ้าของโดยต่างชาติแบบ 100% ในพื้นที่เป็นครั้งแรกดังกล่าว รัฐบาลเทียนจินก็ออกมาประกาศการลงทุนของโรงพยาบาลสิงคโปร์ตามมาทันที


กระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในราวปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาเมื่อจีนอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปเปิดให้บริการการรักษาพยาบาลโดยถือหุ้นแบบ 100% ณ นครเทียนจิน 1 ใน 4 มหานครของจีน บริเวณ “คอไก่” ทางเตอนเหนือของจีน


โรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวก็ได้แก่ โรงพยาบาลเพอร์เรนเนียล เจเนอรัล เทียนจิน (Perennial General Tianjin) ซึ่งลงทุนโดยบริษัท เพอร์เรนเนียล โฮลดิ้งส์ ไพรเวต จำกัด (Perennial Holdings Private Limited) ของสิงคโปร์ 


โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้เงินลงทุนรวม 1,000 ล้านหยวน โดยมีเตียงพยาบาล 500 เตียง และเปิดให้บริการครอบคลุมหลายแผนกเฉพาะทาง อาทิ ศัลยกรรมกระดูก จักษุวิทยา หูคอจมูกวิทยา และโรคไต รวมทั้งแผนกต่างประเทศที่ให้บริการทางการแพทย์เฉพาะบุคคล เช่น การรักษาสุขภาพ การจัดการโรคเรื้อรัง และการฟื้นฟูสมรรถภาพจากโรคร้ายแรง


รายงานของคณะกรรมการสาธารณสุขเทศบาลนครเทียนจิน ระบุว่า โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้จัดอยู่ในมาตรฐานระดับที่ 3 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดตามเกณฑ์การจัดระดับโรงพยาบาลของจีนที่เปิดให้แก่โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง และโรงพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพ 


แต่จีนก็ยังไม่อนุญาตให้มีบริการรักษาพยาบาลด้านจิตเวช โรคติดเชื้อ โลหิตวิทยา แพทย์แผนจีน แพทย์แผนจีนและตะวันตกแบบบูรณาการ และเวชศาสตร์ชาติพันธุ์


นอกจากประโยชน์จากการลงทุนและการแลกเปลี่ยนด้านเทคนิคการแพทย์แล้ว โรงพยาบาลนี้ยังจะมีการเคลื่อนย้ายทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระดับสูงจากต่างประเทศเข้ามาทํางานในแผนกพิเศษ อาทิ ศัลยกรรมกระดูก โรคภูมิคุ้มกัน โรคหัวใจและหลอดเลือด เนื้องอกวิทยา และอื่นๆ


โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตซีชิง (Xiqing) นครเทียนจิน โดยอาศัยประโยชน์จาก “ทำเลที่ดี” ที่ใกล้ย่านชุมชนและชุมทางรถไฟของสถานีรถไฟ “Tianjin South” (เทียนจินใต้) หลายฝ่ายจึงคาดว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่เพียงจะดึงดูดผู้ป่วยชาวจีนและต่างชาติที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์คุณภาพสูงในจีนได้อย่างมาก แต่จะสามารถขยายขอบเขตการให้บริการแก่ผู้ป่วยในพื้นที่ปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย “จิงจินจี้” ได้อีกด้วย


กลุ่มบริษัทดังกล่าวยังมีแผนที่จะขยายขอบเขตการให้บริการ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลต่างประเทศและในจีนอย่างจริงจัง และการนำผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศเข้ามายกระดับบริการทางการแพทย์ของรัฐในอนาคต 


จากกรณีศึกษานี้ อาจพอสรุปได้ว่า แม้ว่าจีนต้องเผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ อยู่ก็ตามในปัจจุบัน แต่การอนุญาตโรงพยาบาลต่างชาติแบบ 100% ในครั้งนี้ก็แสดงถึงความมั่นคงของจีนในการตอบสนองต่อนโยบายในหลายด้านในเวลาเดียวกัน 


ไม่ว่าจะเป็นการกระจายภูมิทัศน์ทางการแพทย์ในจีน การตอบสนองต่อความต้องการการดูแลสุขภาพเฉพาะทาง และการเปิดกว้างอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของจีนตามที่ประกาศไว้ ความเคลื่อนไหวนี้ส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของจีนในการปรับปรุงภาคการดูแลสุขภาพให้ทันสมัยและเปิดกว้างด้านเศรษฐกิจอยู่ต่อไป


การดำเนินนโยบายดังกล่าวยังยืนยันว่า จีนมีความมุ่งมั่นในการผลักดันการเปิดเสรีทางธุรกิจโดยสมัครใจและฝ่ายเดียว สิ่งนี้ทำให้กิจการต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุนด้านการแพทย์และสุขภาพในจีน และการจัดตั้งโรงพยาบาลของต่างชาติจะมีส่วนสําคัญที่จะช่วยตอกย้ำจุดยืนดังกล่าว


โดยที่จีนก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งต้องการเฉพาะมากมาย ซึ่งรวมถึงการรักษาพยาบาล ทำให้ตลาดผู้สูงอายุของจีนมีขนาดใหญ่และศักยภาพที่สูงมาก 


ศูนย์วิจัยผู้สูงอายุของจีนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจผู้สูงอายุ (Silver Economy) โดยรวมซึ่งครอบคลุมถึงการท่องเที่ยว อาหาร การดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์ดูแลสุขภาพ และอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน จะเติบโตจากมูลค่า 7 ล้านล้านหยวนในปัจจุบันเป็น 30 ล้านล้านหยวนภายในปี 2035


บริการการดูแลรักษาพยาบาลของจีนกำลังเดินหน้าสู่ความทันสมัยอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้การไปใช้บริการโรงพยาบาลในจีนมี “ทางเลือก” มากขึ้น และกำลังเปลี่ยนความรู้สึกของผู้ป่วยจาก “ความน่าสะพึงกลัว” เป็น “ความสบายใจ” 


ดูเหมือนการคาดหวังลูกค้าจากตลาดจีนของโรงพยาบาลเอกชนไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในอนาคตซะแล้ว ... 




ภาพจาก Getty Images

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง