TNN ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ด้วยความทุ่มเทในนวัตกรรมการทำเกษตรที่ผ่านมา ทำให้จีนสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในปี 2024 ที่จีนต้องเผชิญกับสภาพอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายระลอก แต่กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทก็คาดว่าจีนจะมีผลผลิตธัญพืชแตะ 700 ล้านตันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

นั่นหมายความว่า จีนในปีนี้จะมีผลผลิตข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และธัญพืชอื่นมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงระดับความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์และสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มณฑลเฮยหลงเจียงถือเป็นผู้นำการผลิตธัญพืชของจีนต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 

เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูง การชลประทานขั้นสูง และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการนำเอาการจัดการแบบมืออาชีพและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางผ่านเครื่องจักรเครื่องมือทันสมัย อาทิ รถเก็บเกี่ยวขนาดใหญ่และแม่นยำสูง 

ผมขอกลับมาขยายประเด็น “ระบบอัตโนมัติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรที่เชื่อมต่อกับดาวเทียม บ่อยครั้งที่ผมพบว่า เครื่องจักรทางการเกษตรเหล่านี้มีขนาดเล็ก แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้กระทั่งในเรือนเพาะชำ

ผู้เชี่ยวชาญในโครงการเหล่านี้เปิดเผยกับผมว่า ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะกับเครื่องจักรเครื่องมือที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบเรือนเพาะชำและแปลงเกษตรขนาดมาตรฐานควบคู่ไปด้วย สิ่งนี้ทำให้เทคโนโลยีอัจฉริยะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จีนยังนำเอาระบบการจดจำใบหน้า คิวอาร์โค้ด และหุ่นยนต์มาใช้อย่างหลากหลาย ในด้านปศุสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ 3 ล้านตัวที่มีผลผลิตไข่ปีละกว่า 2 ล้านฟองต่อวัน และฟาร์เลี้ยงหมูล้ำสมัยของซีพีก็ใช้ระบบเหล่านี้อย่างแพร่หลายในจีน ทำให้สามารถทำฟาร์มปศุสัตว์แม่นยำที่มีประสิทธิภาพสูงได้

ระบบยังถูกนำไปใช้กับการเพาะปลูกในโรงเรือน การกรีดยาง การเก็บใบชา และอื่นๆ ซึ่งช่วยลดปัญหาการติดเชื้อจากคนงานไปสู่พืชและสัตว์ ลดภาระงานและค่าจ้างแรงงาน ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านพื้นที่และสภาพอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับสุขภาพของสัตว์ คุณภาพของผลผลิต และอื่นๆ 

การทำเกษตรกรรมในโรงเรือนก็นับว่าได้รับความนิยมและมีบทบาทในการผลิตสินค้าเกษตรอย่างมากในจีน หลายส่วนเป็น “เกษตรทันสมัย” ที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะ

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทสะท้อนว่ารัฐบาลจีนผลักดันการพัฒนาเกษตรกรรมเรือนกระจกเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร โดยระบุว่า ปัจจุบันจีนปลูกพืชในโรงเรือนถึงราว 17 ล้านไร่ คิดเป็นราว 1 ใน 9 ของพื้นที่เขตเกษตรกรรมของไทย และขยายต่อไปยังการทําฟาร์มปศุสัตว์เรือนกระจก ซึ่งช่วยผลิตโปรตีนจากสัตว์คิดเป็น 70% ของเนื้อสัตว์ ไข่ และนม และกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยรวมของจีน

ทั้งนี้ เกษตรกรรมเรือนกระจกบางส่วนอยู่ในรูปแบบของ “การทำเกษตรแนวดิ่ง” (Vertical Farming) ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมทั้งการปลูกพืชล้มลุก การทำปศุสัตว์ อาทิ ไก่และหมู และการทำประมงในทะเล วิธีการดังกล่าวนอกจากจะประหยัดพื้นที่ไปได้มากแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรอย่างคาดไม่ถึง 

เช่น การเพาะปลูกที่มุ่งเน้นความแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ยและอัดออกซิเจนในระดับที่เหมาะสมในน้ำก่อนใส่ตรงไปที่ราก และการเปิดไฟจากหลอดแอลอีดีในสเป็กตรัมที่เหมาะสมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้พืชเติบโตเร็วขึ้น และยังสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาและปริมาณการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นออกานิกส์ได้ 

การเพาะปลูกในลักษณะดังกล่าวยังทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีและแทบไม่มีของเหลือ และสามารถทำการเกษตรได้โดยไม่ต้องรอ “ฟ้าฝน” ยิ่งเมื่อการทำธุรกิจการเกษตรดังกล่าวมักเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า ก็ยิ่งช่วยลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และความสูญเปล่าจากผลผลิตที่ตกค้างและเน่าเสีย

ด้วยความสามารถในการจัดการของเสีย ทำให้การทำเกษตรดังกล่าวสามารถทำได้ในชุมชนเมือง ระยะทางที่ใกล้กันของฟาร์มกับผู้บริโภคในเชิงเปรียบเทียบช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์และเพิ่มคุณภาพและความสดของสินค้าได้มาก

พ่อแม่และผู้ปกครองสามารถพาลูกหลานลงจากอพาร์ทเม้นต์มาเลือกเก็บผักผลไม้สด อาทิ สตรอเบอร์รี่ที่ต้องการ ณ ฟาร์มแนวดิ่งใกล้บ้าน และเรียนรู้การทำเกษตรสมัยใหม่ไปพร้อมกัน

เมื่อกล่าวถึงการเปิดไฟฟ้าแสงสว่าง “หลอก” ให้การเพาะปลูกแนวดิ่งเติบโตตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนแล้ว จีนยังเริ่มทดลองใช้เทคนิคดังกล่าวกับการปลูกพืชผักและผลไม้ในพื้นที่กลางแจ้ง อาทิ แก้วมังกร ในหลายแห่ง อาทิ มณฑลหนานหนิง และไฮ่หนาน สิ่งนี้ทำให้ผมนึกถึงการเปิดไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับการปลูกดอกไม้ในเนเธอร์แลนด์ที่กระจายตัวในวงกว้างนอกชุมชนเมือง 

อีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็นอย่างแพร่หลายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและช่องทางออนไลน์ก็ได้แก่ การแปรรูปอาหาร ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 

ในช่วงหลายปีหลัง ผมสังเกตเห็นสินค้าอาหารแปรรูปของจีนที่มีคุณภาพสูงและหลากหลายมากอันเนื่องจากนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งยังซ่อนไว้ซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 

ประการสำคัญ สินค้าเหล่านี้เริ่มมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ วงจรการพัฒนานี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ลองนึกย้อนกลับไปราว 20 ปี เวลาผมซื้อขนมขบเคี้ยวของจีนไปให้เพื่อนๆ ชิมกัน หลายคนยังใม่มั่นใจในคุณภาพอยู่เลย แต่ตอนนี้เราซื้อสินค้าอาหารแปรรูปของจีนบริโภคกันอย่างสบายใจกันแล้ว

จีนยังเดินหน้าเปลี่ยนสถานะของ “เกษตรกร” เป็น “ผู้ค้า” และ “ผู้ส่งออกยุคใหม่” อย่างต่อเนื่อง อาทิ การใช้ “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indication) ที่เรานิยมเรียกผ่านตัวย่อว่า “จีไอ” (GI) ในการสร้างความแตกต่าง และต่อยอดการทำตลาดด้วยสื่อสังคมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านอีคอมเมิร์ซและไลฟ์สตรีมมิ่ง

ขณะเดียวกัน จีนก็เดินหน้าสร้างแบรนด์ประเทศและสินค้า/บริการ หรือแม้กระทั่งการผลักดันการพัฒนา “ตราสินค้า” และ “แฟรนไชส์” อาหารและเครื่องดื่มของจีนในเวทีระหว่างประเทศ

ชานับเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หนึ่งที่จีนเพาะปลูกมากและหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อสร้างความแตกต่าง เราจึงอาจเห็นผู้ประกอบการจีนพัฒนาธุรกิจชาในหลากหลายรูปแบบ นอกเหนือจากการระบุประเภทและแหล่งผลิตแล้ว จีนยังให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ 

การผลิต “ชากล่อง” ภายใต้แนวคิดหลักของ “ตู้เสื้อผ้า” ที่เมื่อเปิดออกมาจะเห็น “ซองชา” หลากรสชาติถูกบรรจุในรูปของเสื้อผ้าหลากสีสรร หรือการพัฒนาแก้วใส่ใบชาที่มีกระดาษปรุกั้นไม่ให้ใบชาลอยขึ้นมา และต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม รวมทั้งการจำหน่ายไอสกรีม ไก่ทอด และอาหารอื่นที่ออกไปลงทุนอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ

อีกหนึ่งแคมเปญระดับมหภาคที่โด่งดังมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ได้แก่ “กวงผานสิงต้ง” (Guang Pan Xing Dong) ที่ผมขอแปลว่าเป็นแคมเปญ “ปฏิบัติการกินเรียบ” ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนจากการถ่ายรูป “อาหารเต็มจาน” เป็น “อาหารเกลี้ยงจาน” และเปลี่ยนวัฒนธรรมการสั่งและรับประทานอาหารแบบ “ล้นเหลือ” เป็น “พอเพียง” ซึ่งช่วยให้จีนสามารถประหยัดอาหารและนำไปเลี้ยงคนได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี

หากสนใจไปเรียนลัดการพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะที่สร้างสรรค์เหล่านี้ ท่านผู้อ่านจะต้องทำอย่างไร เราไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...



ภาพจาก: AFP 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง