ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ทั้งนี้ ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) จีนก็กำหนดเป้าหมายการผลิตธัญพืชไว้ที่ 650 ล้านตันต่อปี ซึ่งจีนก็สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 685 ล้านตันในปี 2021 เป็น 695 ล้านตันในปี 2023
ผลผลิตปีที่ผ่านมานับว่าอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของจีน และส่งผลให้ธัญพืชคงคลังต่อหัวของจีนอยู่ที่ 470 กรัม สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 400 กรัมอยู่ค่อนข้างมาก
แม้ว่าพื้นที่การเพาะปลูกต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อาทิ น้ำท่วม และภัยแล้ง จีนก็ยังสามารถรักษาตำแหน่งแชมป์ผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลกเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยในฤดูกาลปี 2023-2024 ผลผลิตข้าวสาลีอยู่ที่เกือบ 140 ล้านตัน ช่วยเป็นวัตถุดิบสำค้ญในการผลิตอาหารแปรรูป อาหารสัตว์ และพลังงาน (เอทานอล)
ในเชิงคุณภาพ นอกจากการลดการใช้สารเคมีเติมแต่งที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จีนยังนำเอาเทคนิคและนวัตกรรมมาปรับปรุงภาคการผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบอุปทานอาหารที่หลากหลาย (Diversified Food Supply System) การทำเกษตรแปลงใหญ่ การทำเกษตรแนวดิ่ง (Vertical Farming) และอื่นๆ
ความมุ่งมั่นในการดำเนินการเหล่านี้ทำให้ผลผลิตทางเกษตรของจีนพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ชาวจีนในยุคหลังจึงไม่ขาดแคลนอาหาร และมีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์นม และอื่นๆ เพิ่มขึ้น
ประเด็นที่สอง จีนประสบความสำเร็จในแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนอย่างไร?
เราต้องยอมรับว่าจีนทุ่มเททำหลายด้านไปพร้อมกัน นอกจากการให้ความสำคัญในระดับนโยบายจากส่วนกลางแล้ว จึงยังเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่มีอยู่และพัฒนาการเกษตรในระดับท้องถิ่น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อย่างที่เราคุยกันไปเมื่อตอนก่อนว่า การพัฒนาด้านเกษตรกรรมถือเป็นเรื่องที่พรคคฯ และรัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยบรรจุเป็นเอกสารฉบับที่ 1 ของการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน จีนก็กำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน โดยออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารฉบับล่าสุดเมื่อปี 2023 และตัั้งเป้าระยะยาวที่จะบรรลุความทันสมัยทางการเกษตรและชนบทในปี 2035
ในยุคหลัง จีนยังเดินหน้าปรับจากเกษตรแปลงเล็กสู่เกษตรแปลงใหญ่ ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเกษตรกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นเกษตรอัจฉริยะ โดยเอาเครื่องจักรขนาดใหญ่และเครื่องมืออัตโนมัติมาช่วยลดปัญหาการขาดแคลนเกษตรกรที่โยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่ชุมชนเมือง
จีนยังสนใจกับการทำเกษตรเพื่อความยั่งยืน อาทิ อาหาร “สีเขียว” และ “ออกานิกส์” ควบคู่ไปกับการปรับให้เกษตรกรรมของจีนมีความทันสมัยมากขึ้น พร้อมจัดทำคู่มือการเพาะปลูกมาตรฐานเพื่อเพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในช่วงหลายปีหลัง การปลูกผักกางมุ้งมีให้เห็นในหลายพื้นที่ของจีน ดังจะเห็นได้จากเวลาที่เราเดินทางไปในบางเมือง ก่อนเครื่องบินลงสนามบินหรือนั่งรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่ทางการเกษตร เราก็อาจสังเกตเห็น “มุ้ง” สำหรับการปลูกพืชผักที่สร้างเรียงชิดติดกันยาวต่อเนื่องเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร
เทคนิคการเพาะปลูกดังกล่าวช่วยแก้ไขปัญหาใหญ่ของจีนในหลายส่วน อาทิ การลดการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และอื่นๆ และช่วยให้ชีวิตและพื้นที่ในชนบทน่าอยู่มากขึ้น
บทบาทของผู้นำจีน ซึ่งเป็นแบบอย่างทางความคิดของพรรคฯ นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาด้านการเกษตรของจีน นอกจากการปฏิรูปครั้งใหญ่จาก “เกษตรนารวม” สู่ “เกษตรนาแยก” แล้ว แคมเปญสำคัญในยุคหลังก็ได้แก่ นโยบายการปฏิรูปภาคการเกษตร และการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบท (Rural Revitalization)
การเพิ่มระดับการพึ่งพาตนเองผลิตสินค้าเกษตรก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดี ดังจะเห็นได้จากการประชุม Central Rural Work เมื่อไม่นานมานี้ที่ สี จิ้นผิง ได้กล่าวไว้ว่า “ชามข้าวของคนจีนต้องอยู่ในมืออย่างมั่นคง และเต็มไปด้วยพืชผลของจีนเป็นหลัก” สิ่งนี้ “ตอกย้ำ” ถึงการให้ความสำคัญในเชิงนโยบายกับประเด็นความมั่นคงทางอาหารของจีน
นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนส่งเสริมนวัตกรรมด้านการเกษตรให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรม อาทิ การปลูกพืชและการทำปศุสัตว์แนวดิ่ง
การวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวและธัญพืชอื่นนับเป็นอีกตัวอย่างที่ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง และนำไปทดลองปลูกในหลายพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมต่างกัน ทั้งในและต่างประเทศ จนได้ข้าวพันธุ์ผสมที่ดีและมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นอย่างเหลือเชื่อ
ทำเอาผลผลิตต่อไร่ของไทยที่เคยสูงกว่าของจีนหายไปในชั่วกระพริบตา ปัจจุบัน ผลิตภาพการเพาะปลูกข้าวของจีนเฉลี่ยสูงกว่าไทยถึง 4-5 เท่าในปัจจุบัน จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้าวขาวของไทยจะคิดไปแข่งขันด้านราคาในตลาดจีน
นอกจากนี้ การพัฒนาข้าวพันธุ์ผสมดังกล่าวยังทำให้การเพาะปลูกข้าวของจีน “ก้าวข้าม” ข้อจำกัดในด้านสภาพปัจจัยแวดล้อมอีกด้วย
จีนถือเป็นประเทศที่ต้องเผลิญกับข้อจำกัดของพื้นที่ “ดินเค็ม” และ “ดินด่าง” มากเป็นอันดับ 3 ของโลก อาทิ พื้นที่ย่าน “อกไก่” บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง และ “หงอนไก่” แถวมณฑลเฮยหลงเจียง ทางซีกตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกในน้ำกร่อยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนสามารถใช้พื้นที่ “ดินเค็ม” ดังกล่าวเพื่อการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลผลิตมากกว่าเดิมถึงกว่า 100 เท่า และบางสายพันธุ์ก็ให้ผลผลิตมากกว่าค่าเฉลี่ยการผลิตข้าวของไทยถึงราว 2 เท่าในปัจจุบัน และส่งผลให้พื้นที่เหล่านี้เป็น “อู่ข้าว” ที่สำคัญของจีนในช่วงหลายปีหลังและต่อเนื่องไปในอนาคต
ทุกวันนี้ เวลาสมาชิกครอบครัว “ล้อมวง” รับประทานอาหารร่วมกัน พ่อแม่และผู้ปกครองชาวจีนมักปลูกฝังให้ลูกหลานตระหนักและกล่าวขอบคุณต่อ ดร. หยวน หลงผิง (Yuan Longping) ซึ่งเป็นบิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสมของจีนที่อุทิศตนและมอบสิทธิบัตรข้าวพันธุ์ผสมที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยทั้งชีวิตเป็นสมบัติชาติ
ส่วนหลังนี้สะท้อนว่า คนจีนไม่เพียงต้องการมี “ตำแหน่ง” ในองค์กรเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ต้องการเป็น “รัฐบุรุษ” ที่ได้รังสรรค์คุณประโยชน์แก่สังคมโดยรวมและสร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูลในระยะยาว ดั่งคำกล่าวอมตะของอดีตผู้นำจีนที่ว่า “ลี่กั๋ว ลี่หมิน” (เพื่อชาติและประชาชน)
ขณะเดียวกัน พนักงานของรัฐและประชาชนชาวจีนก็พร้อม “ร่วมแรงร่วมใจ” เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ซึ่งทำให้จีนมีพลังที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
คุยต่อในประเด็นอื่นในตอนหน้าครับ ...
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ