TNN ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อหลายวันก่อน ผมได้รับเชิญจาก อสมท. ให้ไปอัดเทปรายการใหม่ “มองจีนหลากมุม” ที่ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.30 น. ในหัวข้อเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร” ของจีน และพูดคุยกันในหลายประเด็นย่อย หลังออกอากาศไปไม่นาน ก็มี FC ของผมติดต่อมาพูดคุยสอบถามเพิ่มเติม ผมเลยขอหยิบยกเอาเรื่องนี้มาขยายผลกันครับ ...


ในประเด็นแรก ผมถูกคุณวัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น พิธีกรสาวมากความสามารถซักถามเกี่ยวกับ “สถานการณ์ด้านอาหารของจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน”


ต่อประเด็นดังกล่าว ผมขอเรียนว่า สถานการณ์ด้านอาหารของจีนในอดีตมีภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย หากมองย้อนกลับไปในช่วง เหมา เจ๋อตง ท่านผู้นำยุคแรก จีนประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารค่อนข้างรุนแรง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 


ว่าง่ายๆ ก็คือ จีนอยู่ในช่วง “ไม่พอมี ไม่พอกิน” ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้องคนจีน ส่งผลให้ในช่วงที่จีนปิดประเทศ บางปีคนจีนต้องอดอาหารตายปีละเป็นล้านคนก็มี 

ขณะเดียวกัน คุณภาพของผลผลิตและกรรมวิธีการขัดสีข้าวก็ไม่ดี มีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ฟันของคนสูงอายุของจีนบิ่นหักก็เพราะข้าวที่มีเศษหินปะปนเข้ามา

คนจีนในยุคนั้นจึงแทบไม่มีโอกาสบริโภคอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม จากคำบอกเล่าระบุว่า การได้รับจัดสรรเนื้อหมู ไก่ และเนื้อสัตว์อื่นเกิดขึ้นเฉพาะในโอกาสสำคัญ เช่น เทศกาลตรุษจีน 


ภายหลังจีนเปิดประเทศ เติ้ง เสี่ยวผิง ท่านผู้นำในยุคต่อมา ก็ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเกษตรครั้งใหญ่จาก “เกษตรนารวม” เป็น “เกษตรนาแยก” เพื่อหวังกระตุ้นให้ผลิตภาพทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น การดำเนินนโยบายได้ผลดีเกินคาด 


ที่ดินถูกจัดสรรให้แก่เกษตรกรแต่ละคน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้เพื่อการทำเกษตร และให้สามารถถ่ายโอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับ “ทายาท” เท่านั้น 

การดำเนินนโยบายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลดี ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในเชิงปริมาณทุเลาลงโดยลำดับ และกลายเป็นพื้นฐานการพัฒนาด้านการเกษตรที่ดีของจีนในหลายสิบปีต่อมา


ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหารในเชิงคุณภาพ ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ การเพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และอื่นๆ ในระดับที่สูง รวมทั้งขั้นตอนการเพาะปลูกที่ไม่เหมาะสม 


การเติบใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนในช่วง 3 ทศวรรษแรกของการเปิดประเทศที่มองข้ามผลข้างเคียงหลายด้านอย่างคาดไม่ถึง ปัจจัยเชิงลบสำหรับการทำเกษตรกรรมดังกล่าวผสมโรงเข้ากับงานหบัก (ไม่มีเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรที่เหมาะสม) และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ทำให้เกษตรกรจีนจำนวนมากละทิ้งถิ่นฐานไปหาอาชีพใหม่ในเมือง


เรากำลังพูดถึงการสูญเสียเกษตรกรจำนวนเกือบ 300 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าวที่โยกย้ายไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและไหลต่อไปยังภาคบริการในเวลาต่อมา


ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหาใหญ่ในช่วงหลายปีหลัง เพราะการทำเกษตรแบบดั้งเดิมทำให้มีสารพิษตกค้างในดิน น้ำ และระบบนิเวศน์ ซึ่งสะท้อนถึง “ความไม่ยั่งยืน” ทั้งในส่วนของเกษตรกร ผลผลิต และพื้นที่ชนบท


ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพต่ำ ยิ่งผสมรวมกับกรรมวิธีการผลิตที่ขาดระบบการควบคุมที่ดี ก็ทำให้อาหารที่ได้มี “ความปลอดภัยต่ำ” ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในคุณภาพ 

ในตอนนั้น จีนพยายามแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารด้วยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ขณะที่สินค้าอาหารที่จีนผลิตได้ก็มีภาพลักษณ์ไม่ดี ทำให้ยากต่อการแข่งขันและการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ


จากปัญหาที่รุมเร้าในหลายด้าน จีนจึงเดินหน้าหลายนโยบายและมาตรการในการพลิกฟื้นสถานการณ์ ลองคิดดูว่าปัจจุบัน จีนมีประชากรคิดเป็นราว 18% ของจำนวนประชากรโลก แต่มีพื้นที่และแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกไม่ถึง 9% ของพื้นที่เพาะปลูกโดยรวมของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่า จีนมีที่ดินและน้ำไม่ถึง 10% แต่เลี้ยงคนเกือบ 20% ของโลก


นี่ถือเป็นแรงกดดันอย่างมาก เพราะสินค้าเกษตรแต่ละประเภทต้อง “แย่งชิง” พื้นที่การเพาะปลูกระหว่างกัน ลำพังข้าวอย่างเดียวก็ใช้พื้นที่การเพาะปลูกถึง 25% ของพื้นที่การเพาะปลูกของจีนโดยรวมแล้ว และยังมีข้าวโพดและข้าวสาลีที่ใช้พื้นที่การเพาะปลูกอีก 


ขณะเดียวกัน ภาคเศรษฐกิจจีนยังต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เติบใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย 


แต่ในเมื่อ “เรื่องกิน” ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลให้ความสำคัญยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการบรรจุเรื่องการเกษตรและพื้นที่ชนบทเป็นเอกสารหมายเลข 1 ของเอกสารการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนมาอย่างต่อเนื่อง


เพื่อป้องกันมิให้วิกฤติอาหาร (Food Crisis) กลับมาเกิดขึ้นอีก จีนจึงมุ่งหน้ายกระดับการพึ่งพาตนเองมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกำหนดนโยบาย “3Ss” อันได้แก่ นโยบายความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) และในระยะหลังยังขยายไปครอบคลุมถึงความยั่งยืนด้านอาหาร (Food Sustainability)


ในเชิงปริมาณ จีนพยายามรักษาพื้นที่การเพาะปลูก โดยกำหนด “เส้นสีแดง” ที่ 1,800 ล้านหมู่ในปัจจุบัน (1 ไร่จีน = 0.42 ไร่ไทย) 


ขณะเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในภาคการเกษตร และความสามารถในการผลิตที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการก่อตัวของ “ระบบนอมินี” ในช่วงหลายปีหลัง จีนก็เดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตรครี้งใหญ่ โดยปลดล็อกเงื่อนไขการถ่ายโอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการเกษตร ที่จำกัดไว้ตับแต่ให้กับ “ทายาท” ไปสู่บุคคลอื่นได้


สิ่งนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่การเพาะปลูกขนานใหญ่จาก “เกษตรแปลงเล็ก” ไปสู่ “เกษตรแปลงใหญ่” และนำเอาเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรมาใช้ในมากขึ้น ซึ่งทำให้ผลิตภาพทางการเกษตรของจีนเพิ่มขึ้น

คุยต่อตอนหน้าครับ ...



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง