เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
เราไปตามรอยดูบทบาทของเซี่ยงไฮ้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์กันต่อเลยครับ ...
หลายฝ่ายต่างคาดหมายว่า เซี่ยงไฮ้จะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมฯ ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม (Satellite Internet) ซึ่งจะเป็นวิธีการสื่อสารเสริมที่จําเป็น อาทิ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหลักทางทะเลและการบรรเทาสาธารณภัย และเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักสําหรับการสื่อสารระบบ 6G ที่กําลังจะมีขึ้นในภูมิภาค
รวมทั้งการใช้งานอย่างกว้างขวางในการสื่อสารของอุปกรณ์อเล็กทรอรุ่นใหม่สําหรับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน อาทิ Xiaomi 14 Ultra และ Huawei Mate 60 Pro และการขับขี่ยานยนต์ไร้คนขับ ตลอดจนความต้องการ สถานการณ์ และรูปแบบธุรกิจใหม่อีกมากมายในอนาคต
เรากำลังพูดถึงอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาภายในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอวกาศ และมีบทบาทสําคัญในการขับเคลื่อนการลดต้นทุนและการปรับปรุงประสิทธิภาพของภาคการผลิตในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์ส่วนประกอบ และผู้ให้บริการด้านเทคนิค
นั่นหมายความว่า จีนกำลังต่อยอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สําหรับผู้บริโภคต่อไปยังหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ การบิน และอวกาศ และอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการผลิตในพื้นที่ในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย
ขณะเดียวกัน เซี่ยงไฮ้ก็ยังมี “บทบาทนำ” ในการพัฒนาระเบียงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมจี 60 (G60 Science and Innovation Corridor) ที่ครอบคลุม 9 เมืองสำคัญในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง อาทิ เซี่ยงไฮ้ หางโจว ซูโจว และเหอเฝย
ระเบียงวิทยาศาตร์ฯ นี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 หรือเมื่อราว 8 ปีก่อน ถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติที่บูรณาการเอาศักยภาพของ 60 บริษัทจีนที่ล้ำสมัยซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ มา “ทวีกำลัง” กันผ่านแพลตฟอร์มที่มุ่งผนวก “นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับอุตสาหกรรม” เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการยกระดับภาคการผลิตสู่ยุคหน้าของจีน
ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ นี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ซงเจียง (Songjiang) เขตหนึ่งในด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของเซี่ยงไฮ้ ถูกกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเต็มรูปแบบไม่ว่าจะเป็นจรวด ดาวเทียม สถานีบนพื้นโลกและนอกโลก และเครือข่ายระบบการสื่อสาร
โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมกับหัวเมืองต่างๆ ในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงให้เกิดความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2024 รัฐบาลซงเจียงได้เป็นเจ้าภาพจัด “งานสัมมนานิเวศวิทยาอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเสมือนเป็นการ “จุดพลุ” ประกาศก้าวย่างแรกของการเดินทางไกลครั้งใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ในพื้นที่อย่างเป็นทางการ
การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้โมเดล “1+3” (1 การประชุมหลัก และ 3 ฟอรัมย่อย) ที่ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรเอกชนได้ร่วมกัน “ระดมสมอง” เพื่อหารือในเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนา โอกาส และความท้าทายของอุตสาหกรรมฯ นี้
การสัมมนายังได้ขยายภาพแผนปฏิบัติการ 3 ปีและอุตสาหกรรมข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ครอบคลุม 5 ส่วนสําคัญตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การผลิตดาวเทียมเชิงพาณิชย์และอุปกรณ์ภาคพื้นดิน การผลิตจรวดเชิงพาณิชย์ และการขยายนวัตกรรมของการใช้งานดาวเทียม
รัฐบาลซงเจียงยังวางแผนจะขยายการสนับสนุนเชิงนโยบาย การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาพื้นที่ และการเสริมสร้างการแนะนําและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
โดยตั้งเป้าที่จะปลูกฝังกิจการไฮเทคและ SME ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่า 30 แห่ง ตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตมากกว่า 5 แห่ง และจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะคุณภาพสูงสถาบันวิจัยและพัฒนา ชุมชนนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งยังจะมีบทบาทนําหรือมีส่วนร่วมในการกําหนดหรือแก้ไขมาตรฐานระดับชาติและอุตสาหกรรมในสาขาที่เกี่ยวข้องของอินเทอร์เน็ตดาวเทียมมากกว่า 5 มาตรฐาน
ประการสำคัญ รัฐบาลยังตั้งเป้าที่เต็มไปด้วยความท้าทายว่าเขตซงเจียงจะมีกำลังการผลิตดาวเทียมเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากปีละ 50 ดวงในปี 2025 เป็นปีละ 300 ดวงในปี 2026
หากบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็เท่ากับว่า ณ สิ้นปี 2026 จีนจะมีดาวเทียมในวงโคจรมากกว่า 600 ดวง และขนาดทางการตลาดของอุตสาหกรรมฯ พุ่งทะลุ 10,000 ล้านหยวน รวมทั้งจะมีธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้องนับ 100 แห่งที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสวนอุตสาหกรรมฯ ที่มีลักษณะเฉพาะระดับท้องถิ่น และกลุ่มอุตสาหกรรม SME ระดับชาติ
นอกจากนี้ การประชุมยังนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงด้านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมฯ นี้จำนวนหลายฉบับ โดยมีองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 10 แห่งเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ อาทิ องค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
ทั้งนี้ นับแต่ปี 2018 กิจการที่เกี่ยวข้องชั้นนำจำนวนมากต่างทยอยเข้าไปจดทะเบียนและก่อตั้งโรงงานผลิตสินค้าในห่วงโซ่อุตสาหกรรมฯ ในเขตซงเจียง
อาทิ หยวนซินแซตเทลไลต์ (Yuanxin Satellite) และเก๋อซือแอโรสเปซ (GeSi Aerospace) รวมทั้งเชียนฟานคอนสเตลเลชัน (Qianfan Constellation) ที่ก่อสร้างโรงงานผลิตดาวเทียมดิจิตัล G60 และสายการผลิตดาวเทียมมาตรฐานแบบผลิตเป็นจำนวนมาก (Mass Production)
ในภาพใหญ่ เซี่ยงไฮ้ยังจะขยายการพัฒนาไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ จิ๋วถิ่ง (Jiuting) เมืองในเขตซงเจียง และพื้นที่พิเศษหลินกั่ง (Lingang) รวมทั้งโครงการเมืองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลินกั่ง-ซงเจียง ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมฯ ที่แข็งแกร่ง มีอิทธิพลสูง และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
เห็นเซี่ยงไฮ้ “ออกตัวแรง” ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์เช่นนี้แล้ว ทำให้ผมเกิดความคิดว่า เห็นทีไทยจะต้องรีบประสานเพื่อจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนไปเข้าร่วม “งานสัมมนานิเวศวิทยาอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” ครั้งที่ 2 ที่เขตซงเจียงในปีหน้าซะแล้ว
ตอนหน้า ผมจะขอย้อนพาไปส่อง “คลังสมอง” ด้านการบินและอวกาศของจีนกันครับ ...
แฟ้มภาพ reuters
ข่าวแนะนำ