TNN จีนเปิดตัวระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเครือข่ายใหญ่สุดในโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนเปิดตัวระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเครือข่ายใหญ่สุดในโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนเปิดตัวระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเครือข่ายใหญ่สุดในโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนเปิดตัวระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเครือข่ายใหญ่สุดในโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมมีเพื่อนผู้ประกอบการจีนแวะมาเยี่ยมเยือน และพูดคุยสารพัดเรื่องจนเลยไปถึงการพัฒนากลุ่มเมืองในวงของเฉิงตูและฉงชิ่ง และย้อนไปถึงเหตุการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.0 ที่เขตเหวินชวน (Wenchuan) ทางตอนเหนือของมณฑลเสฉวนเมื่อปี 2008 ที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 69,000 คน และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก


ผมจำความได้ว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในครั้งนั้นทำให้ผมที่กำลังทำงานอยู่บนอาคารสูงในนครเซี่ยงไฮ้ที่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวซึ่งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของจีนหลายพันกิโลเมตรรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน 


ผมและผู้คนจำนวนมากต้องวิ่งลงจากตึกสูงผ่านบันไดหนีไฟลงมาด้านล่าง ซึ่งเราก็จับกลุ่มกันถามไถ่ถึงสาเหตุกันในเบื้องล่าง ก็เลยเป็นข้อสงสัยว่า ผ่านมากว่า 16 ปีแล้ว จีนพัฒนาอะไร อย่างไรเพื่อเอาชนะภัยธรรมชาตินี้กันบ้างครับ ...


ภัยธรรมชาตินับเป็นหนึ่งในปัจจัยอันตรายที่คุกคามอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ และภูเขาไฟระเบิด รวมทั้งแผ่นดินไหว ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นภัยธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด 


เรื่องนี้คนที่เคยผ่านประสบการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะบอกเล่าได้ดี ประการสำคัญ หลายคนมักสงสัยว่าทำไมมนุษย์จึงไม่สามารถรับรู้การเกิดแผ่นดินไหวได้ก่อนเวลา เพราะหากทำได้อย่างแม่นยำ จะช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินได้มาก


จีนนับเป็นประเทศหนึ่งที่เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติหลากหลายที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเนื่องจากจีนตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียที่ยังคงมีการเคลื่อนตัวอย่างเนื่องมาบรรจบกัน จึงเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง 


แผ่นดินไหวในจีนส่วนใหญ่ยังเกิดบนบริเวณจีนแผ่นดินใหญ่ โดยคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายทั่วโลก ทำให้หลายพื้นที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งตามมาด้วยปัญหาดินถล่มและอาฟเตอร์ช็อกที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่ผู้คนในพื้นที่อีกด้วย 


นับแต่ทศวรรษ 1990 จีนได้เริ่มมีความคิดที่จะดําเนินโครงการก่อสร้างและพัฒนาระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า (Early Earthquake Warning System) ของตนเองขึ้น


ภายหลังการต้องเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมณฑลเสฉวนเมื่อปี 2008 และอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา ก็ทำให้จีนพยายามเร่งรัดการพัฒนาวิธีการป้องกันและตอบสนองต่อภัยธรรมชาติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และครบวงจร


ด้วยผลกระทบอันร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว การพัฒนา EEWS ก็เป็นเรื่องที่องค์การสหประชาชาติให้ความสนใจเช่นกัน โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถพัฒนาแผนการใช้งานระบบเหล่านี้ในหลายประเทศได้ภายในปี 2030


แต่โดยที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบภัยจากแผ่นดินไหวที่เลวร้ายที่สุด และยังคงเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ  ยิ่งสภาพปัจจัยแวดล้อมส่งสัญญาณการเดินสู่สภาวะ “โลกเดือด” ที่ภัยธรรมชาติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จีนจึงต้องเผชิญกับความเสียหายและความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้น 


จากสถิติของจีนพบว่า เฉพาะในปี 2023 รัฐบาลจีนรายงานแผ่นดินไหวขนาด 5 ขึ้นไปจำนวนถึง 18 8ครั้ง โดยในจํานวนนี้ จำนวน 11 ครั้งเกิดขึ้นในหลายมุมเมืองบนพื้นที่จีนแผ่นดินใหญ่


จีนจึงไม่อาจนั่งรอคอยความช่วยเหลือของยูเอ็นได้ ศูนย์วิจัยหลายแห่งในจีนได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงที่นําไปสู่การทํานายและเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้น โดยต้องการให้มีลักษณะสําคัญอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการทํางานด้วยความเร็วและความแม่นยําที่ไม่มีที่สิ้นสุด


โครงการใหญ่ที่รัฐบาลจีนผุดขึ้นในปี 2018 เห็นจะได้แก่ “โครงการรายงานความรุนแรงและการเตือนภัยล่วงหน้าแผ่นดินไหวอย่างรวดเร็วแห่งชาติ” (National Earthquake Intensity Rapid Reporting and Early Warning Project) ที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารแผ่นดินไหวแห่งชาติจีน (China Earthquake Administration)


โครงการนี้มุ่งพัฒนาเครือข่ายเตือนภัยล่วงหน้าที่ออกแบบให้แจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจะเกิดขึ้น ต่อมาในปี 2021 ระบบถูกนำไปนำร่องติดตั้งใช้ใน 5 พื้นที่วิกฤติของจีนที่มักเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 


เช่น ภาคเหนือของจีน (ภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย) ซีกตะวันตก (มณฑลยูนนานและเสฉวน และเขตปกครองตนเองซินเจียงและทิเบต) และเขตชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ (มณฑลฝูเจี้ยน) โดยในด้านเทคนิค CEA ติดตั้งแต่ละสถานีตรวจจับสัญญาณและเตือนภัยล่วงหน้าให้อยู่ห่างกัน 12 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า สถานีนับหมื่นจุดถูกทยอยติดตั้งในพื้นที่ที่อ่อนไหว


ในปี 2023 CEA ได้นําเสนอนวัตกรรมการตรวจจับสัญญาณและเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าเจนใหม่ที่ถูกพัฒนาเป็นเครือข่ายใหญ่ที่เชื่อมต่อกับระบบตรวจสอบ เครือข่ายการสื่อสาร การประมวลผลข้อมูล และระบบบริการข้อมูลแผ่นดินไหวฉุกเฉิน


ส่งผลให้ระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าและรายงานผลของจีนโดยรวมได้พัฒนาในหลายมิติในช่วงหลายปีหลัง อาทิ การครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น มีเสถียรภาพและแม่นยำขึ้น และให้บริการประชากรจํานวนที่มากขึ้น และรวดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับของประเทศอื่นๆ  


จนถึงปัจจุบัน จีนได้รับการยอมรับว่าพัฒนา EEWS รุดหน้าไปไกลมาก โดยมีเครือข่ายจำแนกเป็นศูนย์ระดับชาติ 3 แห่ง สถานีสังเกตการณ์รวมเกือบ 16,000 แห่ง และศูนย์เผยแพร่ข้อมูลอีกราว 180 แห่งซึ่งครอบคลุม 31 มณฑลและมหานครทั่วประเทศ 


ทำให้ EEWS ถูกพัฒนาเป็น “เครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก” และคาดว่าจะเริ่มทํางานอย่างเต็มพิกัดได้ภายในสิ้นปี 2025


ขอยกยอดการส่องพัฒนาการของ EEWS และองค์ประกอบในมิติด้านอื่นไปคุยกันต่อในตอนต่อไปครับ ...


ข่าวแนะนำ