ปารีสเปิดโอลิมปิก แต่จีนรวยขายสินค้า (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ปารีสเปิดโอลิมปิก แต่จีนรวยขายสินค้า (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ภายหลังอิ่มเอมกับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส หรือ “ปารีส 2024” เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงกำลังตกอยู่ในกระแสความคลั่งไคล้โอลิมปิกกันอยู่ไม่มากก็น้อย
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจีนหลายรายก็อาจกำลังเพลิดเพลินกับการ “นับเงิน” จากการขายสินค้ากันอยู่เช่นกัน ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนั้น ไปติดตามกันเลยครับ ...
อันที่จริงแล้ว ปี 2024 ถือเป็นปีที่พิเศษสุดสำหรับฝรั่งเศสด้วยสาเหตุหลายประการ ท่านผู้อ่านอาจได้รับทราบข่าวว่า ปี 2024 เป็นปีครบรอบ 6 ทศวรรษของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและฝรั่งเศส
เราได้เห็นเอมานูว์แอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และนำไปสู่การลงนามในความตกลงว่าด้วย “ปีแห่งวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน-ฝรั่งเศส” (China-France Year of Culture & Tourism)
ขณะเดียวกัน โดยที่กรุงปารีสได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม และตามมาด้วยพาราลิมปิกที่กำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม-8 กันยายน “วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว” ระหว่างจีนและฝรั่งเศส ก็ขยายไปสู่ “การพาณิชย์”
งานกีฬาระดับโลกดังกล่าวนำไปสู่อุปสงค์ในสินค้ากีฬาหลากชนิดจำนวนมหาศาล และดูเหมือน “ปารีส 2024” ได้ให้การยอมรับในคุณภาพสินค้าของจีนอย่างแท้จริง และในอีกด้านหนึ่ง ผู้ผลิตจีนก็ใช้โอกาสอันดีนี้เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงและขยายฐานลูกค้าสู่เวทีโลก โดยเฉพาะการค้ากับยุโรปในอนาคต ทั้งทางตรงและทางอ้อม
กล่าวคือ แม้ว่าไม่ได้ออเดอร์จากปารีส 2024 ในครั้งนี้ แต่ผู้ผลิตจีนก็คาดหวังว่าจะได้รับคําสั่งซื้อจากชาวยุโรปในวงกว้างผ่านการแข่งขันกีฬาอื่นและอุปสงค์ของชาวยุโรปในอนาคต
ในขณะที่กระแสความคลั่งไคล้ปารีส 2024 ก่อตัวขึ้นแรงทั่วโลก “เศรษฐกิจโอลิมปิก” ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน
โดยนับแต่ปี 2023 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจีน “Made in China” จากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “กระแสโอลิมปิก” ที่ร้อนแรงดังกล่าวทำให้เกิดอุปสงค์ในอุปกรณ์กีฬาและสินค้าที่เกี่ยวข้องหลากหลายชนิดสำหรับนักกีฬาและผู้ชมในวงกว้าง
นอกจากชุดกีฬาและอุปกรณ์กีฬาแล้ว สินค้าจีนจำนวนมากยังเข้าไปช่วย “เติมเต็ม” ให้แก่การแข่งขันกีฬาโลกครั้งนี้ ไล่ตั้งแต่ธงชาติ สายรัดข้อมือ แตรเป่า และถ้วยรางวัล ไปจนถึงของเล่นและของที่ระลึก พวงกุญแจ และเหรียญที่ระลึกที่มีมาสคอต “ฟรีจิส” (Phryges) ตัวนำโชค (Mascot) ของปารีส 2024 สัญลักษณ์แห่งอิสรภาพ รวมทั้งเครื่องประดับหอไอเฟลที่แปลกใหม่
หลายหัวเมืองในบริเวณซีกตะวันออกของจีนได้รับออเดอร์สินค้าที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก อาทิ กวางโจว (Guangzhou) เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง หนิงโปว (Ningbo) เมืองเศรษฐกิจหลักของมณฑลเจ้อเจียง และอี้อู (Yiwu) เมืองค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่สุดในโลก แม้กระทั่งยอดขายสินค้าเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นผ่านการค้าออนไลน์
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมเมื่อสินค้าโอลิมปิกที่ปารีสถูกผลิตขึ้นในจีนอย่างท่วมท้น แต่กลับไม่มีใครสังเกตเห็นในฝรั่งเศส เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2022 ที่คณะกรรมการโอลิมปิกปารีสเปิดเผยว่า มีเพียง 8% ของสินค้าที่ระลึกมาสคอตอย่างเป็นทางการเท่านั้นที่จะผลิตในฝรั่งเศส
สาเหตุสำคัญก็เพราะข้อจำกัดด้านการผลิตในเชิงโครงสร้างที่โรงงานในฝรั่งเศสไม่อาจตอบสนองความจต้องการได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ว่าง่ายๆ โรงงานในฝรั่งเศสไม่อาจผลิตสินค้าเหล่านั้นในราคาที่ต่ำเป็นจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น
ท่านผู้อ่านลองคิดตามผมไป ผู้จัดงานต้องเผชิญกับความท้าทายในการตระเตรียมสินค้าของที่ระลึกและอุปกรณ์การเชียร์จำนวนมหาศาล เช่น สายรัดข้อมือ ตุ๊กตามาสคอต ผ้าพันคอ และธงชาติขนาดน้อยใหญ่ก็ปาเข้าไปหลักล้านชิ้นในแต่ละชนิด ขณะที่ถ้วยและเหรียญรางวัลก็มีความต้องการมากกว่า 200,000 ชิ้นเลยทีเดียว
แถมในชั่วโมงนั้น แหล่งผลิตทั่วโลกต่างหยุดชะงักอันเนื่องจากวิกฤติโควิดและต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปที่เจอ “ลูกหลง” จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อเค้าจะลากยาว ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องหาแหล่งผลิตจากภายนอกที่ “ทั้งถูก เร็ว และดี” ซึ่งพอมองออกไปทั่วโลกก็หนีไม่พ้น “จีน”
เราต้องยอมรับว่า ห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมของจีนเป็นแหล่งผลิตที่มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น ผู้ผลิตชั้นนำของจีนมีความสามารถในด้านการออกแบบและการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถส่งมอบสินค้าที่มีวัสดุคุณภาพสูงในปริมาณมากและราคาที่แข่งขันได้อย่างรวดเร็ว
หลังจากนั้น คำสั่งซื้ออุปกรณ์กีฬานานาชนิดก็หลั่งไหลเข้าโรงงานจีนอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับ “สูงสุด” ในช่วงเดือนกลางปี 2024 ซึ่งสอดคล้องกับยอดการส่งออกของหลายหัวเมืองของจีน
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 เฉพาะหนิงโปวมียอดการส่งออกสินค้ากีฬาและอุปกรณ์ในมูลค่ารวมกว่า 3,770 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่า 22% เมื่อเทียบกับของปีก่อน และส่วนใหญ่ไปยังตลาดฝรั่งเศส นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของจีนขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
เพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจโดยรวม รัฐบาลจีนได้จัดตั้ง “ช่องทางสีเขียว” (Green Lanes) สําหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์กีฬาและสินค้าที่เกี่ยวข้องที่ผลิตในจีนสามารถจัดส่งถึงงานได้ทันเวลา
แต่หลายฝ่ายก็ประเมินว่า คำสั่งซื้อสินค้ากีฬาดังกล่าวจะไม่หยุดลงพร้อมกับพิธีปิดการแข่งขันฯ อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ
ประการแรก นอกจากผลกระทบในทางตรงแล้ว ปารีส 2024 ยังส่งผลให้เกิด “เศรษฐกิจโอลิมปิก” มูลค่ามหาศาลผ่านการปลุกกระแสความสนใจในกีฬาในทางอ้อม ซึ่งนำไปสู่อุปสงค์ในอุปกรณ์กีฬานานาชนิดเป็นจำนวนมาก ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
นับตั้งแต่ต้นปีนี้ Double Fish Sports Group ผู้ผลิตสินค้ากีฬาของจีนที่ตั้งอยู่ในนครกวางโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นซัพพลายเออร์ลูกปิงปองแต่เพียงผู้เดียวสําหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ปารีสปี 2024 ผลิตและส่งออกลูกปิงปองถึง 650,000 ลูกสําหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีส และอีก 22 ออเดอร์ไปยัง 15 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
แถมยังมีคําสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องลากยาวไปถึงสิ้นปี และขยายต่อไปถึงสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ไม้ปิงปอง โต๊ะปิงปอง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในเชิงคุณภาพ ความต้องการดังกล่าวยังส่งผลให้ราคาขยับสูงขึ้น ผู้ผลิตและผู้ค้าจีนสามารถทำกำไรได้ดีขึ้นจากการผลิตของที่ระลึกกีฬาโอลิมปิก ยกตัวอย่างเช่น ลูกปิงปองทั่วไปมีราคาขายส่งเพียง 0.6 หยวนต่อลูก แต่ลูกปิงปองที่ระลึกสําหรับปารีส 2024 สามารถทำราคาขายได้มากกว่า 6 หยวนต่อชิ้น หรือสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว
คุยกันต่อตอนหน้าครับ ...
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ