เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ในการขยายพื้นที่เครือข่ายบริการแท่นชาร์จเร็วไปยังพื้นที่อื่นในจีน นับว่าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ...
โดยเมื่อต้นปี 2024 จีนได้จัดตั้งเขตสาธิตการชาร์จ EV อัจฉริยะ และศูนย์บริการสลับแบต ในมณฑลเจียงซูที่มีอาณาเขตเกือบ 500 ตารางกิโลเมตร ครอบคุลมหลายหัวเมืองในมณฑลเจียงซู อาทิ ซูโจว อู๋วซี และฉางโจว ใหญ่กว่าพื้นที่ของสมุทรสงคราม จังหวัดที่เล็กที่สุดของไทยเล็กน้อย
เขตสาธิตนี้มีเสาชาร์จที่ติดตั้งขึ้นใหม่รวมจำนวนถึง 1,300 ต้น และพร้อมพรั่งด้วย “ความอัจฉริยะ” ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ EV สามารถชาร์จแบตได้อย่างรวดเร็วและประหยัดที่สุด แถมยังสามารถใช้แอพช่วยค้นหาสถานที่ที่เหมาะสมในการชาร์จแบตอีกด้วย
สิ่งอำนวยความสะดวกอัจฉริยะที่เปี่ยมประสิทธิภาพดังกล่าวคาดว่าจะสามารถลดระยะเวลาการเข้าคิวชาร์จแบตแก่ EV จำนวนมากกว่า 500,000 คันลงได้ถึงเกือบครึ่งของระยะเวลาที่ใช้เดิมเลยทีเดียว
เท่านั้นไม่พอ เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีข่าวการเปิดตัวเครื่องชาร์จเจนใหม่ของ Huawei ที่มีความเร็วอย่างน่าตื่นตะลึง “ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์” อัจฉริยะรุ่นใหม่นี้ได้รับการพัฒนาโดย Huawei Digital Power ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Huawei
โดยอาศัยระบบการระบายความร้อนด้วยการใช้น้ําหล่อเย็น (Liquid-Cooling) ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์รุ่นใหม่นี้สามารถชาร์จแบต EV หลากหลายยี่ห้อด้วยความเร็ว “1 กิโลเมตรต่อวินาที” หรือ “60 กิโลเมตรต่อนาที” เร็วกว่าของยุคแรกของสหรัฐฯ ถึงเท่าตัว และเอาชนะแชมป์เก่าอย่าง Tesla ได้อย่างขาดลอย
ลองคิดดูว่า ถ้าเราจอดพักรถและจิบกาแฟหรือเข้าไปแวะซื้อข้าวของในร้านสะดวกซื้อสัก 10 นาที แบตที่ชาร์จใหม่ก็สามารถวิ่งได้ถึง 600 กิโลเมตรเลยทีเดียว ซึ่งนับว่า “เร็วได้ใจ” เจ้าของ EV อย่างแท้จริง ผู้ใช้ EV ที่ต้องการใช้บริการสามารถมองหาป้าย Huawei ที่มีถ้อยคำ “600kW” แสดงอยู่ใต้โลโก้ได้
แต่ผมประเมินว่า สำหรับแบตเจนปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ ก็สามารถจะชาร์จเต็มแบตได้ภายในไม่ถึง 8 นาที ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ใช้อาจแตกต่างกันไปได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความจุที่เหลือของแบต
ยิ่งไปกว่านั้น Huawei ยังตั้งเป้าจะติดตั้งแท่นชาร์จประสิทธิภาพสูงดังกล่าวจำนวนถึง 100,000 เสาตามแหล่งสิ่งอำนวยความสะดวกเชิงพาณิชย์และทางด่วนในจีนภายในสิ้นปี 2024
ทั้งนี้ Huawei มุ่งเน้นที่จะขยายเครือข่ายกับตลาดในประเทศก่อน จึงคาดว่า “ซุปเปอร์ชาร์จเจอร์อัจฉริยะ” นี้จะได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางในจีนในช่วง 6-7 ปีข้างหน้า ซึ่งภึงตอนนั้น จีนน่าจะติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จคุณภาพสูงครอบคลุมหัวเมืองหลักและรองทั่วประเทศไปแล้ว
รวมทั้งเส้นทางด่วนสายหลักของจีน อาทิ สาย 318 ที่มีความยาว 5,476 กิโลเมตรทอดยาวจากเซี่ยงไฮ้ ผ่านเจ้อเจียง และอานฮุยทางซีกตะวันออก หูเป่ยในบริวณตอนกลาง และเข้าไปถึงฉงชิ่ง เสฉวน และทิเบตทางซีกตะวันตกของจีนภายในปี 2030 สิ่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเชิงบวกสนับสนุนการใช้ EV ของจีนในอนาคต
อีกหนึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดของแบต EV ก็คือ จีนพัฒนาเทคโนโลยีการสลับแบต EV หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “การสวอปแบต”
อันที่จริง นวัตกรรมนี้มี Better Place กิจการของชาวยิวที่ลงทุนในซานฟรานซิสโกเป็นผู้บุกเบิกเมื่อปี 2008 แต่ก็ปิดกิจการลงในเวลาต่อมา
ในปี 2021 Ample สตาร์ทอัพอีกรายหนึ่งได้เปิดสถานีสลับแบตในซานฟรานซิสโก โดยมุ่งเป้าไปที่คนขับแท๊กซี่ Uber ที่ใช้รถ Nissan Leaf และขยายความร่วมมือไปสู่ตลาดต่างประเทศ
โดยเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทยังประกาศว่าจะให้บริการกลุ่มตลาดรถยนต์แบบองค์กร เช่น แท๊กซี่ ในเมืองเกียวโต ญี่ปุ่น และร่วมมือกับ Stellantis เพื่อเปิดให้บริการนี้ในกรุงมาดริด สเปน
ขณะที่ในจีน หลายคนก็นึกถึง Nio สตาร์ตอัพ EV ที่วางตำแหน่งทางการตลาดว่าเป็น “Tesla แห่งจีน” ก็นับเป็นรายแรกที่คิดค้นและนำเสนอนวัตกรรมนี้
อย่างไรก็ดี ในระยะแรก บริการนี้ก็มิได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายเร็วอย่างที่คาดคิด เพราะ EV ในจีนมีหลากหลายยี่ห้อ และแบตของแต่ละยี่ห้อและรุ่นก็อาจมีขนาดและสเป็คที่แตกต่างกัน ทำให้เทคโนโลยีนี้มีข้อจำกัดในเรื่องขนาดและคุณภาพของแบตที่ต้องได้รับการออกแบบแบตที่ได้มาตรฐานมาใช้ให้สามารถเข้ากับ EV ได้อย่างหลากหลาย
ผู้ให้บริการยังต้องลงทุนสต็อกแบตเป็นจำนวนมากและก่อสร้างสถานีสลับแบตที่มีมาตรฐานเดียวกัน
งานวิจัยหนึ่งระบุว่า การก่อสร้างสถานีสลับแบตต้องใช้เงินลงทุนราว 500,000 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่สถานีชาร์จใช้เงินลงทุนราว 200,000-300,000 เหรียญสหรัฐฯ ความคุ้มค่าในการลงทุนจึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่รออยู่
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการนี้ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มุ่งหวัง “ความสะดวก” และ “ความประหยัด” ทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา ควบคู่กันไป ทำให้สถานีสลับแบตมีเงื่อนไขด้านการตลาดที่ควรตั้งอยู่ใน “ทำเล” ที่เหมาะสม อาทิ แหล่งชุมชนหรือทางผ่านคล้ายกับสถานีบริการน้ำมัน
ลองคิดดูว่า ถ้าผู้ใช้ EV ต้องขับรถไปหลายนาทีเพื่อใช้บริการสลับแบต ความสะดวกและความประหยัดเวลาที่เป็น “จุดเด่น” ของบริการนี้ รวมทั้งลูกค้าที่ต้องการใช้บริการนี้ก็อาจหดหายไปในทันที
ในเชิงธุรกิจ ผู้ให้บริการก็อาจไม่ต้องการลงทุนก่อสร้างสถานีสลับแบตในพื้นที่ชนบทที่มีการใช้ EV ไม่หนาแน่นนัก สิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อการขยายการใช้ EV ให้กระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ และนโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับพื้นที่ชนบท
นอกจากนี้ อีกงานวิจัยหนึ่งก็ระบุว่า เจ้าของ EV ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในคุณภาพของแบตที่สลับสับเปลี่ยนเข้ามาใช้กับ EV ว่าดีเหมือนของเดิม หรือส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าโดยรวมของ EV ของตนหรือไม่ อย่างไร
แต่โดยที่รัฐบาลจีนตระหนักดีถึงศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ที่ช่วยให้สามารถเปลี่ยนแบตที่ใช้แล้วเป็นแบตที่มีกระแสไฟฟ้าเต็มได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที จึงให้ความสนใจอย่างมากที่จะสร้างมาตรฐานเพื่อสร้างความประหยัดอันเนื่องจากขนาด
ในปี 2021 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทำหน้าที่กํากับดูแล EV ของจีน ได้ออกข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสําหรับสถานีสลับแบตเป็นมาตรฐานแห่งชาติฉบับแรกของจีน ซึ่งนำไปสู่แนวทางการก่อสร้างสถานีสลับแบตและสิ่งอํานวยความสะดวกในการชาร์จให้มีมาตรฐานและเสริมซึ่งกันและกัน
เห็นจุดยืนและนโยบายของรัฐบางจีนที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว เราก็อาจคลายความกังวลในประเด็น “Standardization” ของเทคโนโลยีการสลับแบตของจีนไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว
แม้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม EV จะมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่โลกยานยนต์ก็กำลังเปลี่ยนจากระบบสันดาปไปสู่พลังงานทางเลือกอย่างชัดเจนเพื่อประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง
การพัฒนาแบตคุณภาพสูง เทคโนโลยีการกำจัดและรีไซเคิ้ลแบตเก่า ซุปเปอร์ชาร์ตเจอร์ การสลับแบต และอื่นๆ ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป และหากต้องเผชิญกับความท้าทายใดๆ ในอนาคต ก็ขอให้นึกเสมอว่า “ปัญหามีไว้พุ่งชน” ครับ ...
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ