TNN เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ภายใต้ความพยายามในการพัฒนาแบตเตอรี่เจนใหม่ที่มุ่งสู่วัสดุใหม่ที่ดีกว่า จีนก็อาศัยแบตแบบ Solid State (สถานะของแข็ง) ที่ไม่มีของเหลวและก๊าซฮีเลียม เป็นทางผ่าน ด้วยคุณสมบัติพิเศษ แบตประเภทนี้จึงมีน้ำหนักเบา ประสิทธิภาพสูง (ระดับ 1,000 กิโลเมตรต่อการขาร์ต) ดีต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดความเสี่ยงในการระเบิดและไฟไหม้ของแบตที่เราได้ยินข่าวอยู่เนืองๆ ลงได้


มาถึงวันนี้ EV จีนได้เริ่มใช้แบตแบบ Semi-Solid State แล้ว โดย IM (ไอเอ็ม) ถือเป็นแบรนด์ EV จีนรายแรกที่เริ่มใช้แบตรุ่นนี้ในจีน


IM ถือเป็นแบรนด์ระดับพรีเมี่ยมของ SAIC Motors รัฐวิสาหกิจยานยนต์รายใหญ่สุดของจีน ที่วางตำแหน่งทางการตลาดมุ่งเน้น “ความไฮเทค” แหล่งข่าวระบุว่า แบรนด์นี้มี Alibaba ร่วมทุนอยู่ด้วย และเตรียมจะมาเปิดสายการผลิต EV พวงมาลัยขวาในไทยในปีหน้ากันแล้ว


อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาวิธีการจัดการแบต EV ที่จะหมดอายุการใช้งานควบคู่ไปด้วย


ปัจจุบัน จีนมีความสามารถในการนำแบตที่หมดอายุกลับมาใช้ใหม่ได้ 2.86 ล้านตันต่อปี คิดเป็นราว 10 เท่าของยุโรปและสหรัฐฯ รวมกัน


ผลการสำรวจของ Mysteel นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมของจีนระบุว่า เจียงซีเป็นมณฑลที่มีกำลังความสามารถที่สูงที่สุดของจีนที่ราว 700,000 ตันต่อปี คิดเป็นเกือบ 25% ของกำลังโดยรวมของจีน ตามมาด้วยหูหนาน (670,000 ตันต่อปี) และกวางตุ้ง (310,000 ตันต่อปี)


ณ สิ้นปี 2023 จีนสามารถนำแบตลิเธียมที่หมดอายุกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่ถึง 25% ของทั้งหมดเท่านั้น นอกจากลิเธียมแล้ว แบตเจนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังมีโลหะหนักอื่นที่ต้องการการจัดการมากมาย

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuters

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ในระหว่างปี 2025-2032 จีนจะมีจำนวนแบตที่หมดอายุการใช้งานรวมถึง 20 ล้านก้อน ซึ่งนั่นเป็นความท้าทายที่สูงลิ่วสำหรับจีนที่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม


ขณะเดียวกัน แบตเจนใหม่ที่พัฒนาให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องก็อาจต้องการเทคโนโลยีการจัดการที่แตกต่างไป ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นจีนยังคงมองหาและส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมในด้านนี้ที่ล้ำสมัยอย่างจริงจัง


ดังนั้น หากนวัตกรท่านใดมีเทคโนโลยีในการกำจัด “แบตขยะ” ดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็เตรียมพร้อมเป็น “อภิมหาเศรษฐี” ได้เลย


อีกวิธีการหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญก็คือ การพัฒนาสถานีชาร์จแบต ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม


ณ สิ้นปี 2023 จีนได้ก่อสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จแบตสาธารณะราว 1.8 ล้านแห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานีแบบชาร์จเร็วถึง 760,000 แห่ง หรือกว่า 43% ของทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า จำนวนสถานีชาร์จแบตสาธารณะของจีนจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 40% ในปี 2024


ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโลก ก็พบว่า จีนพัฒนาสถานีชาร์จแบตไปรุดหน้ากว่าของทุกประเทศในโลก โดยทิ้งห่างอันดับ 2 และ 3 ได้แก่ เกาหลีใต้ที่มีจำนวนสถานีชาร์จแบต 210,000 แห่ง (10% เป็นแบบชาร์จเร็ว) และสหรัฐฯ 128,000 แห่ง (ราว 21% เป็นแบบชาร์จเร็ว)



สถานีชาร์จแบตเตอรี่สาธารณะชั้นนำของโลก

ประเทศ
จำนวนสถานี (แห่ง)
จำนวนสถานีชาร์จเร็ว (แห่ง)

1. จีน
1,800,000
760,000
2. เกาหลีใต้
210,000
21,000
3. สหรัฐฯ    
128,000
28,000
4. เนเธอร์แลนด์
124,300
900
5. ฝรั่งเศส
83,700
9,700


แม้กระทั่งสํานักงานพลังงานระหว่างประเทศก็ยังยกย่องจีนว่าเป็น “ผู้นําระดับโลกด้านโครงสร้างพื้นฐาน EV” โดยเป็นมีสถานีชาร์จแบตแบบเร็วคิดเป็น 85% และชาร์จแบบช้าราว 65% ของโลก


อย่างไรก็ดี ในด้านอุปสงค์ ตลาด EV ในจีนก็ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจนนับเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยรถ EV ที่ใช้อยู่บนท้องถนนของจีนคิดเป็นเกือบ 50% ของโลก ทำให้จํานวนสถานีชาร์จแบตในจีนที่ว่ามากแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของ EV ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ


การพัฒนาเทคโนโลยีแบบ “ซุปเปอร์ชาร์จ” (Supercharge) ที่มีความเร็วสูงจึงได้รับความสนใจอย่างมาก และคาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต


สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่นำเสนอการชาร์จเร็วเป็นอันดับแรกๆ โดยในปี 2018 กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จแบตจาก 0 ถึง 80% ภายใน 10 นาที ซึ่งทำให้ EV สามารถวิ่งได้ระยะทาง 320 กิโลเมตร หรือเฉลี่ย 32 กิโลเมตรต่อนาที อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีในระยะแรกส่วนใหญ่ใช้พัดลมระบายความร้อน


Tesla นับเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาเครือข่ายเครื่องชาร์จเร็วในจีน โดยเริ่มติดตั้งนับแต่ปี 2014 และ ณ สิ้นปี 2023 มีจำนวนจุดชาร์จมากกว่า 11,000 แห่ง ในจำนวนนี้ ราว 20% ที่ EV ยี่ห้ออื่นสามารถใช้บริการได้ ขณะเดียวกัน แท่นชาร์จเหล่านี้ก็มีกำลังสูงสุด 250 กิโลวัตต์ นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาเกือบ 20 นาทีจึงจะชาร์จเต็มแบต


ค่าย EV จีนเองก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน และรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น Xpeng สตาร์ตอัพของจีนก็ติดตั้งเครื่องชาร์จเร็วกําลังสูงสุด 480 กิโลวัตต์ในหลายร้อยจุด และผู้ให้บริการสถานีชาร์จรายใหญ่อย่าง TELD และ Star Charge ก็เดินหน้าติดตั้งเครื่องชาร์จเร็วเช่นกันในปัจจุบัน


ทั้งนี้ ในระยะแรก การติดตั้งแท่นชาร์จเร็วกระจุกตัวอยู่ในเมืองชั้นนำด้านซีกตะวันออกของจีน เช่น เซินเจิ้น เมืองที่เคยถูกมองว่าเป็น “เมืองนักก๊อป” แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็น “เมืองแห่งนวัตกรรม” ซึ่งรวมไปถึงความเป็นผู้นำใน EV ของจีน


เวลาเดินทางไปเซินเจิ้น เราจะสังเกตเห็นเสาชาร์จกระจายตัวอยู่ทั่วเมือง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เซินเจิ้นได้ประกาศโครงการติดตั้งเสาชาร์จเร็วจำนวน 1,000 เสาภายในสิ้นปี 2024 โดยเน้นไปที่แหล่งชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสถานีขนส่ง จุดจอดรถสาธารณะ ร้านอาหาร และศูนย์การค้า


แต่ยังไม่ทันที่โครงการติดตั้งเสาชาร์จเร็วดังกล่าวระยะแรกจะแล้วเสร็จ เราก็เห็นแท่นชาร์จเร็วกระจายตัวไปยังพื้นที่อื่นของจีนอย่างรวดเร็ว เช่น พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง


กำลังสนุกเลย แต่วันนี้พื้นที่ผมหมด เลยต้องขอยกยอดไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...





ภาพจาก reuters

ข่าวแนะนำ