TNN จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

มาถึงประเด็นสำคัญว่าจีนมีโมเดลการพัฒนาขีดความสามารถ SME ในระยะยาวอย่างไร ...


อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ ในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน SME จีนกำหนดนโยบายและดำเนินมาตรการอย่างหลากหลาย แต่เนื่องจากวิกฤติโควิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มาตรการส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น


แต่กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ของจีนก็มิได้มองข้ามการพัฒนาในระยะยาวอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการรักษาสถานะขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตของประเทศ และปรับโครงสร้าง SME ด้านการผลิตสู่ระดับโลก


ในการนี้ จีนดำเนินการผ่านการใช้ “ระบบการบ่มเพาะทรงปิระมิด” (Pyramid Cultivation System) ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนา SME ของเยอรมนีเป็นพื้นฐาน


โมเดลการพัฒนาดังกล่าวจำแนก SME ด้านการผลิตที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 4 ระดับจากล่างสุดสู่บนสุด โดยเปรียบได้กับการจัดชั้นนักกีฬาเพื่อแข่งขันกีฬาในระดับที่สูงขึ้น ดังนี้


ประเภท
เป้าหมาย (ราย)
ภายในปี 2025
ระดับการจัดชั้น
(เทียบกับการเป็นนักกีฬา)
•    SME ที่มีนวัตกรรม (Innovative SME
1,000,000
จังหวัด
•    SME เฉพาะด้าน (Specialized SME)    
100,000
เขต
•    ยักษ์เล็ก (Little Giants)
10,000
ประเทศ
•    แชมป์การผลิต (Manufacturing Champions)
1,000
ระหว่างประเทศ


จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


โมเดลดังกล่าวนี้ถูกออกแบบให้สถานะของ SME ที่เกี่ยวข้อง “มีขึ้นมีลง” จากระดับหนึ่งสู่อีกระดับหนึ่ง และ “มีเข้ามีออก” ซึ่งเป็นเสมือน “ทางลัด” ในการเข้าออกจากโครงการ โดยมีระบบการประเมินเพื่อจัดระดับ

ชั้นทุก 3 ปี โดยมีเกณฑ์การประเมินที่วัดตามระดับความสามารถและความพร้อมของ SME


ยกตัวอย่างเช่น การก้าวขึ้นเป็น “ยักษ์เล็ก” (Little Giants) SME ด้านการผลิตที่เกี่ยวข้องจะต้องผ่านเงื่อนไขการประเมิน ดังนี้

1.  สถานะปัจจุบัน ต้องมีพนักงานน้อยกว่า 1,000 ราย และรายได้น้อยกว่า 400 ล้านหยวน ทั้งนี้ อย่างน้อย 70% ของรายได้ดังกล่าวต้องมาจากธุรกิจหลักที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบาย Made in China 2025 หรือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว


2.  สถานะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% ต่อปี มีสัดส่วนทรัพย์สินต่อหนี้สิน 70% ขึ้นไป และมีส่วนแบ่งตลาดจีน 10% ขึ้นไป รวมทั้งลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาไม่น้อยกว่า 3% และยื่นจดสิทธิบัตรมากกว่า 2 ฉบับ


จะเห็นได้ว่า ระบบดังกล่าวจึงไม่เพียงสะท้อนถึง “ความต่อเนื่อง” แต่ยังตอกย้ำถึง “ความเข้มข้น” ในการพัฒนาขีดความสามารถของ SME สู่เวทีโลกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่านการจัดระดับชั้นเป็น “ยักษ์เล็ก” ที่มีความเป็นเลิศสำหรับตลาดภายในประเทศ และประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเสมือนการสร้างทีมนักกีฬาทีมชาติจีนเพื่อ “ฟูมฟัก” เป็นทีมนักกีฬาโอลิมปิกของจีน


คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำไม SME จีนต่างมุ่งเป้าการพัฒนาสถานะสู่ “ยักษ์เล็ก” ...


มีหลายเหตุผลครับ ประการแรก เมื่อได้รับการจัดชั้นขึ้นสู่สถานะ “ยักษ์เล็ก” SME ที่เกี่ยวข้องจะได้รับเงินทุนจากภาครัฐก้อนใหญ่เพื่อสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา


ประการที่ 2 สถานะ “ยักษ์เล็ก” ยังเป็น “ใบเบิกทาง” ให้ SME สามารถไปขึ้นทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง (Beijing Stock Exchange) ซึ่งเป็นตลาดหุ้นสำหรับ SME เป็นการเฉพาะ


โดยนับแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2021 ตลาดฯ ได้อนุมัติให้ “ยักษ์เล็ก” ที่มีความพร้อมและโดดเด่นด้านนวัตกรรมจำนวนกว่า 70 รายเข้าไปทำ IPO ซึ่งคิดเป็นราว 40% ของจำนวน SME ที่ลิสต์ในตลาดฯ โดยรวม


ประโยชน์ถัดมาก็คือ “ยักษ์เล็ก” สามารถออกตราสารทางการเงินได้ อาทิ หุ้นกู้ ทำให้การระดมทุนมีทางเลือกมากขึ้นและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งทำให้สามารถทำโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของจีน และง่ายในการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรม

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ภาพ : AFP

สิ่งที่เป็นความท้าทายใหญ่ของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ในการเป้าหมายจำนวน SME ในแต่ละระดับก็คือ จีนมีจำนวน SME หลายสิบล้านรายที่กระจายอยู่ในหลายร้อยเมืองทั่วประเทศ


ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ จีนระบุว่า ณ สิ้นปี 2023 SME ด้านการผลิตของจีนได้รับการรับรองเป็น SME เฉพาะด้านจำนวน 70,000 ราย และยักษ์เล็กจำนวน 12,000 ราย  


เพื่อบรรลุเป้าหมายในปี 2025 (สิ้นสุดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14) กระทรวงอุตสาหกรรมฯ จึงร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายในระดับมณฑล/มหานครและเล็กลงไป ช่วยติดตามช่วยเหลือการพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างใกล้ชิดก่อนจัดระดับความสามารถในการแข่งขันของ SME เป็นระยะ ความสำเร็จในการดำเนินโครงการจึงต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้องค์กรเครือข่ายดังกล่าวด้วย


ยกตัวอย่างเช่น ฉางชา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน ก็ดําเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและส่งผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้บริการที่ครอบคลุมแก่ SME ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความมั่นใจและกระตุ้นความมีชีวิตชีวาของตลาด


โดยในระยะหลัง ฉางชาได้พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อบ่มเพาะ “ยักษ์เล็ก” จนมีจำนวนระดับประเทศกว่า 140 แห่ง อยู่ในอันดับที่ 4 ในบรรดาเมืองเอก และอันดับที่ 13 ในบรรดาเมืองทั่วประเทศ


ฉางชายังคง “เดินหน้า” ให้ความสำคัญกับเครือข่ายอุตสาหกรรมและบ่มเพาะ SME คุณภาพสูงเพื่อเพิ่มจํานวน SME ในแต่ละระดับ โดยตั้งเป้าพัฒนา SME ที่มีนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ราย และ “ยักษ์เล็ก” 300 รายเพื่อเป็นเครื่องยนต์ใหม่สําหรับการพัฒนาคุณภาพสูงของเศรษฐกิจด้านการผลิตของเมืองในอนาคต

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับหลายร้อยหัวมืองในจีน และจะยังไม่หยุดแค่นั้นอย่างแน่นอน ลองคิดดูว่า หากจีนบรรลุเป้าหมายการพัฒนา SME ด้านการผลิตของจีนตามที่กำหนดไว้ เราก็จะเห็น “แชมป์การผลิต” จำนวน 1,000 รายก้าวขึ้นสู่เวทีโลก


ผมเห็นการส่งเสริมด้านนวัตกรรมด้วยการรับเอาโมเดลการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวมาปรับใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง การทวีกำลังของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเครือข่ายที่แผ่ซ่าน และความเป็นผู้ประกอบการอย่างทุ่มเทเพื่อสานฝันของ SME ด้านการผลิตของจีนด้วยนวัตกรรมแล้ว ก็ไม่แปลกใจว่าทำไม SME จีนจึงพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูงและก้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศแทบไม่เว้นแต่ละวัน


ขณะที่ภาคการผลิตก็มีความเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญของการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาคอย่างมีเสถียรภาพ ผมจะมีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในไทยบ้างไหมหนอ ...



ภาพจาก reuters

ข่าวแนะนำ