จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
หลังบทความตอนก่อนตีพิมพ์ออกไป ก็มีท่านผู้อ่านที่ทำงานด้านการวางแผนของภาครัฐสอบถามมาว่า นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ จีนมีหน่วยงานใดอีกบ้างที่ช่วยดูแลการพัฒนา SMEs หลายสิบล้านรายทั่วจีน ...
อันที่จริง จีนมีองค์กรในหลายระดับกระจายในระดับมณฑลและมหานคร และแยกย่อยลงไปในระดับล่าง โดยหน่วยงานสำคัญก็ได้แก่ “China Center for Promotion of SME Development” (ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนา SME แห่งชาติจีน)
ศูนย์ส่งเสริมฯ ถือเป็นองค์กรบริการภาครัฐที่ครอบคลุมเพียงแห่งเดียวภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนา SME จีนผ่านความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ
ภายหลังก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1986 ในสมัยที่ท่านจู หรงจีเป็นนายกรัฐมนตรี ศูนย์ส่งเสริมฯ เป็นตัวแทนภาครัฐในการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนา SME ตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินโครงการสนับสนุนและออกแบบและปรับปรุงระบบบริการ SME แห่งชาติ
ศูนย์ส่งเสริมฯ ยังนับว่ามีบทบาทสำคัญในการร่างข้อเสนอเพื่อจัดทำแผนพัฒนา 5 ปี (2021-2025) สำหรับการพัฒนา SME จีน ซึ่งต้องการเห็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในคุณภาพการพัฒนาโดยรวม ความสามารถด้านนวัตกรรม และระดับความเชี่ยวชาญ รวมทั้งระดับการปฏิบัติงานและการจัดการ
โดยมีเป้าหมายหลักภายในปี 2025 อาทิ การเพิ่มรายได้จากการดำเนินงานต่อหัวของ SME มากกว่า 18% เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อปีของกิจการขนาดย่อมด้านอุตสาหกรรมมากกว่า 10% และบรรลุอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของการยื่นขอรับสิทธิบัตรมากกว่า 10%
นอกจากนี้ ศูนย์ส่งเสริมฯ ยังทำหน้าที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องในเวทีการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ SME (SMEs International Cooperation Summit) ณ กรุงปักกิ่ง และในกรอบความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปกลางและตะวันออก (China-Central and Eastern European Countries) และการร่วมมือกับหอการค้ายุโรป (European Chamber) และศูนย์ SME แห่งสหภาพยุโรป (EU SME Center) สำรวจและจัดทำรายงานสถานะของ SME หลากหลายอุตสาหกรรมในหลายสิบหัวเมืองของจีน โดยครอบคลุม 5 ด้าน อันได้แก่ ด้านตลาด กฎหมาย การเงิน นวัตกรรม และนโยบาย
ขณะเดียวกัน จีนยังมีองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน อาทิ China International Cooperation Association of SMEs (สมาคมความร่วมมือระหว่างประเทศ SME จีน) มาสนับสนุนระหว่างกันเพื่อขยายความร่วมมือและบูรณาการการจัดงานใหญ่อย่าง SME Innovation and Entrepreneurship Global Contest
ผมยังสังเกตเห็นมหาวิทยาลัยหลายแห่งของจีนจัดตั้งสถาบัน SME และเปิดสอนหลักสูตร SME เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโมเดลธุรกิจ และจุดประกายให้แก่สตาร์ตอัพหน้าใหม่เข้าสู่ระบบ รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็น “ถังความคิด” (Think Tank) สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง
คณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการเป็นผู้ประกอบการที่ในนามบัตรอาจระบุตำแหน่งว่าเป็น “นักวิจัย” ของสถาบันการศึกษาชั้นนำในหัวเมืองขนาดใหญ่ ยังอาจควบตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ด้าน SME ประจำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกด้วย
กลับไปคุยกันต่อถึงประเด็นการให้ความช่วยเหลือ อีกด้านหนึ่งที่จีนไม่มองข้ามก็ได้แก่ การสนับสนุนด้านการผลิตและด้านการตลาด จีนคิดเสมอว่าการช่วย SME ให้เกิด เติบโต และแข็งแกร่งได้ก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้ SME “ผลิตได้ ขายดี”
ในด้านการผลิต การผลักดันและสนับสนุนส่งเสริมให้ SME ปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมและแนวโน้มวิถีชีวิตของโลกก็เป็นวิธีการหนึ่ง อาทิ การรับเอา “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ และเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) รวมทั้งการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กร
ขณะเดียวกัน จีนยังส่งเสริมการปรับโครงสร้างสู่ดิจิตัล ซึ่งช่วยให้ SME สามารถเลือกใช้โมเดลธุรกิจบนพื้นฐานของการออกแบบด้านดิจิตัล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการออกแบบเครือข่ายด้านดิจิตัล
การปรับโครงสร้างสู่ดิจิตัลยังช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ ช่วยให้สามารถเอาประโยชน์จากการเติบใหญ่ของการค้าออนไลน์และสังคมไร้เงินสดของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มคุณค่าของกิจการในที่สุด
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านดิจิตัลยังสามารถสร้างความโปร่งใสในการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเพื่อป้องกันการฉ้อโกงบริษัทที่ตกอยู่ภาวะเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในยุคดิจิตัล
อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างด้านดิจิตัลไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และมักต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหา อาทิ การขาดแคลนเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศด้านดิจิตัล จึงนับเป็นความท้าทายใหญ่ของ SME ในปัจจุบันและอนาคต
ภารกิจในส่วนนี้ถือเป็นประโยชน์พื้นฐานในการเตรียมความพร้อมแก่สตาร์ตอัพจีนสู่เวทีใหญ่ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลจีน องค์กรเครือข่าย และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุ่มเต็มที่กับการสนับสนุนการดำเนินงานด้านดิจิตัลของ SME
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลท้องถิ่นของหัวเมืองต่างๆ ยังพยายามผุดและขยาย “เวที” ให้ SME สามารถนำเสนอและจำหน่ายสินค้าและบริการด้วยแคมเปญใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ “ชุมชน 15 นาทีเดิน” ในหัวเมืองขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ซึ่งทำให้ธุรกิจออฟไลน์ของ SME ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
ท่านผู้อ่านที่ไปเดินช้อปปิ้งตามร้านค้าขนาดเล็กในนครเซี่ยงไฮ้ ก็อาจเคยอุดหนุน SME โดยไม่รู้ตัว ร้านค้าเหล่านั้นถูกจัดสรรเป็น “ช่องทาง” ให้แก่ SME ในราคาค่าเช่าที่ไม่สูงมากนัก
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังกำหนดนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐจัดสรรโควต้าการจัดซื้อสินค้าทั่วไปแก่ SME เพื่อรักษาตลาดส่วนหนึ่งให้ SME สามารถอยู่รอดในยามวิกฤติและสามารถแข่งขันได้ในอนาคต หรือแม้กระทั่งการจัดงานแสดงสินค้าระดับชาติ “China International SME Fair” เพื่อเป็นเวทีสำหรับ SME ในเวทีระหว่างประเทศ โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมฯ จับมือกับองค์กรบริหารจัดการระเบียบการตลาด (The State Administration for Market Regulation) และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง
จนถึงปัจจุบัน งาน CISMEF นี้จัดขึ้นในช่วง 27-30 มิถุนายนของทุกปี ณ นครกวางโจวต่อเนื่องมาเกือบ 2 ทศวรรษจนกลายเป็นแหล่งรายได้เพื่อการเติบโตของ SME จีน
ในภาพใหญ่ การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และการเสริมสร้าง “ความรักชาติ” ผ่านการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬา การประชุม และนิทรรศการนานาชาติ รวมไปถึงการสร้างภาพยนตร์และละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ อาทิ The Wandering Earth หนังฟอร์มใหญ่ที่มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้คนหลากหลายอาชีพของจีนและต่างชาติร่วมมือกันกอบกู้โลกจากมหันตภัยทางอวกาศ ล้วนมีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ (Country Brand) ของจีนในเวทีระหว่างประเทศ และขยายความต้องการในสินค้าจีน และแน่นอนว่า อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนี่งก็กระเซ็นกระสายไปยัง SME ในทางอ้อมอย่างที่เราคุยกันไปก่อนหน้านี้
ในทางตรง เราเห็นแบรนด์สินค้าจีนได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาสากล อาทิ หลี่ หนิง (Li Ning) แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ก็เป็นรู้จักและได้รับความนิยมในวงกว้างภายหลังโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ปักกิ่ง
ขณะที่โบซิเติง (Bosideng) แบรนด์เสื้อกันหนาวชั้นนำของจีน ก็ขายดิบขายดีหลังการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่ปักกิ่ง และเชื่อมั่นว่าจะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นในโอกาสที่เฮยหลงเจียงจะเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาวในต้นปี 2025
การฝึกปรือ “วิทยายุทธ” ในตลาดจีนของ SME จนแข็งแกร่ง ทำให้ SME จีนมีความพร้อมมากขึ้นในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ เราจึงเห็นจีนผลักดัน SME ออกสู่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของ BRI
ตอนหน้าผมจะพาไปส่องโมเดลการพัฒนาขีดความสามารถ SME ของจีนสู่การเป็นแชมป์กันครับ ...
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ