TNN จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หายหน้าไปเคลียร์งานที่เซี่ยงไฮ้ซะหนึ่งสัปดาห์ พอดีช่วงอยู่ที่จีนมีงานแน่นจนหาเวลาปั่นต้นฉบับตอนใหม่ไม่ได้ บางวันทีมงานช่วยจัดคิวให้แบบ “เต็มเหยียด” จำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่งผมที่ต้องบินไปเข้างานประชุมต่อเนื่องที่ปักกิ่งแบบ “วันเดียวจบ” แบบแน่นๆ แม้กระทั่งช่วงเวลามื้อกลางวันและมื้อเย็นก็ถูกใช้ประโยชน์หมด


วันนั้นผมเลยต้องออกจากเซี่ยงไฮ้ด้วยเที่ยวบินเช้าสุดและกลับด้วยเที่ยวบินสุดท้าย เรียกว่าพอเดินลงสนามบินหงเฉียวที่เซี่ยงไฮ้ตอนเกือบเที่ยงคืน ก็ทำให้ผมอดนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ สมัยที่ผมไปประจำที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนไม่ได้


ผมจำได้ว่าตอนนั้นงานก็ชุกและใช้ประโยชน์จากทุกนาทีในแต่ละวันแบบนี้เหมือนกัน เวลาบินไปปฏิบัติงานในหัวเมืองอื่นในเขตอาณาของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ อาทิ เสิ่นหยาง ฉางชุน และฮาร์บิน ซึ่งอยู่แถบ “หัวไก่” ของจีน ก็ต้องเดินทางแบบนี้อยู่บ่อยๆ


แต่สิ่งสำคัญที่ได้รับอย่างคาดไม่ถึงจากการเดินทางเช่นนี้ก็คือ ฝ่ายจีนมักตระหนักถึงความ “จริงจัง” และ “จริงใจ” ที่เรามีให้ และยินดี “ร่วมมือ” และ “สนับสนุน” อย่างเต็มกำลังเพื่อให้สินค้าและบริการของ SME ไทยมีเวทีแจ้งเกิดในตลาดจีนอย่างเป็นรูปธรรม


เราไปคุยกันต่อดีกว่าว่า จีนทำอย่างไรจึงช่วยให้ SME สร้างนวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และพัฒนาระบบนิเวศส่วนอื่น จนนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันครับ ...


ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า SME จีนโดยรวมมีลักษณะและความสามารถพิเศษในหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์


ดังจะเห็นได้ว่า SME เหล่านี้มีบทบาทอย่างมากต่อการเป็นผู้ประกอบการและการจ้างงาน “คนรุ่นใหม่” อันนำไปสู่การ “คลอด” สินค้าและบริการใหม่ๆ ดังที่เราเห็นในคลิปมากมายที่ว่อนอยู่ในโลกสื่อสังคมออนไลน์

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

คุณประโยชน์ของ SME ในด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมสะท้อนว่า รัฐบาลจีนมิได้คิดและมุ่งหวังเพียงแค่การยืดอายุ “วงจรชีวิต” ของ SME ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3 ปีครึ่งให้ยาวนานออกไปเท่านั้น แต่ยังต้องการเห็น SME แข็งแกร่งและเติบโตเป็นกิจการขนาดใหญ่อีกด้วย


ดังที่เราเห็นว่า SME จีนมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 60% ของกิจการที่เข้าลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นปักกิ่งที่จัดตั้งขึ้นสำหรับ SME ในยุคหลังโควิด ก็มี SME จำนวนกว่า 50 แห่งไปขึ้น IPO แล้ว


ดังนั้น นโยบายและมาตรการสนับสนุนส่งเสริม SME จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการประกอบการเพื่อหวังผลระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย


นับแต่ปี 2015 รัฐบาลจีนได้ลดภาษีและค่าธรรมเนียม และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านการคลังเพื่อสนับสนุน R&D และนวัตกรรมแก่บริษัทจีนเพิ่มขึ้นโดยลำดับ


ทั้งนี้ ในปี 2023 การลดภาษีและค่าธรรมเนียมมีมูลค่ารวมมากกว่า 2.2 ล้านล้านหยวน ซึ่งช่วยเติมพลังให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SME ในภาคการผลิต และเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของบริษัทจีนเป็นอย่างมาก


นโยบายการคลังที่เอื้อประโยชน์ในการหักภาษีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถูกใช้เพื่ออํานวยความสะดวกและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมให้กับบริษัท ขณะเดียวกัน อัตราการหักภาษีก็อาจแตกต่างกันตามนโยบายสนับสนุน


อาทิ ผู้ผลิตวงจรรวมและเครื่องจักรเครื่องมือที่จีนต้องการเพิ่มระดับการพึ่งพาตนเองได้รับสิทธิ์ในการหักค่าใช้จ่ายก่อนหักภาษี 120% ของจํานวนเงินจริงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2023 ถึง 31 ธันวาคม 2027


ด้วยนโยบายและมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้าน R&D และสัดส่วน R&D/GDP ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยับเข้าใกล้ระดับของสหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้าไปทุกขณะแล้ว


นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 รัฐบาลจีนโดยคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ หรือ “เอ็นดีอาร์ซี” (NDRC) ยังออก 22 มาตรการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสูง โดยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมไปสู่ระดับไฮเอนด์ อัจฉริยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


มาตรการชุดนี้นอกจากครอบคลุมถึงการลดต้นทุนทางการเงินโดยรวมอย่างมีเป้าหมายผ่านการลดภาระภาษี ค่าธรรมเนียม และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์แล้วมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในด้านนวัตกรรมของธุรกิจ


โดยกำหนดในรูปของการหักค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาก่อนหักภาษี และการลดหย่อนภาษีสําหรับการถ่ายโอนเทคโนโลยี รวมไปถึงการเร่งแปลงการวิจัยและพัฒนาไปสู่ผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งของ SME ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย Made in China 2025  และอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานคุณภาพสูง

จีนทำอย่างไรให้ SME เติบใหญ่ (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

นโยบายที่ชัดเจนดังกล่าวเป็นตัวกำกับกรอบและทิศทางการพัฒนาที่ดี เพราะมีส่วนช่วยให้ SME รู้ว่าควรจะพัฒนาธุรกิจอะไรและลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาไปในทิศทางใด ทำให้ผลงานวิจัยไม่ได้ “ขึ้นหิ้ง” ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และทรงพลังอย่างแท้จริง


ในโมเดลการพัฒนา “ทั้งระบบนิเวศ” จีนยังลงทุนกับการพัฒนาคน และตระเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องให้อย่างพร้อมสรรพ


สิ่งนี้ทำให้นักลงทุนสามารถศึกษาหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ SME เองก็พลอยได้รับประโยชน์ในการเลือกพื้นที่ลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้การลงทุนของภาครัฐถูกใช้งานอย่างเต็มที่ตามไปด้วย


การกำหนดหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล SME ก็มีความชัดเจน อันได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสมาคมวิสาหกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางแห่งชาติ (China Association of Small and Medium-Sized Enterprises)


แต่ละหน่วยงานมีภารกิจและขอบข่ายความรับผิดชอบที่ชัดเจน ได้รับอำนาจและถูกมอบหมายงานอย่างเต็มกำลัง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่สนับสนุน ไม่เป็น “เบี้ยหัวแตก” ดังเช่นที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งช่วยลดความซ้ำซ้อนในพัฒนา SME หรือทำให้เกิดสับสนแต่อย่างใด


มาถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนยังงุนงงกับบทบาทหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ไทยอยู่เลย แต่ละภาคส่วนยังทำงานแบบ “แยกส่วน” โดยขาดการ “บูรณาการ” ระหว่างกัน แถมพอลงระดับปฏิบัติ เนื้องานในหลายส่วนก็ทับซ้อนกันและถูกใช้เป็นเครื่องมือขององค์กรภาคเอกชนไปโดยไม่รู้ตัว


ท่านผู้อ่านอาจได้รับทราบมาบ้างว่าสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายและทำหน้าที่เป็นผู้บริหารกองทุน และสำนักงานพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ทำหน้าที่ดำเนินกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้อง


แต่ผมก็มักได้ยินเสียงครหาจาก SME มาเป็นระยะว่า แต่ละส่วนงานไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเหมาะสม และร้องเพลง “คนละคีย์” อยู่เสมอ


ขณะเดียวกัน เรายังเปิดให้มีการจัดตั้งสมาคมและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสภาเอสเอ็มทีไทยที่ผมเองก็ไม่ทราบว่ามีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร บ่อยครั้งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง


ความซ้ำซ้อนดังกล่าวนอกจากจะเป็นความ “สิ้นเปลือง” โดยใช่เหตุแล้ว ยังทำให้เกิดเป็น “ช่องโหว่” ให้คณะกรรมการบริหารองค์กรเหล่านี้บางคน “คิดไม่ซื่อ” จัดกิจกรรมและโครงการในนามองค์กร อาทิ งานสัมมนา และงานเจรจาธุรกิจ เพื่อหวังหลอก SME ที่รู้ไม่เท่าทันให้ตกเป็นเหยื่ออยู่เนืองๆ  


ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมอยากแลกเปลี่ยน ยังไงติดตามอ่านต่อตอนหน้าครับ ...



ข่าวแนะนำ