รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ท่านผู้อ่านคงได้มีโอกาสไปทดลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงในจีนมาแล้วบ้าง แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีโอกาสไปใช้บริการพิเศษ“ตู้โดยสายเงียบ” (Quiet Carriage) เลยอยากเอามาแลกเปลี่ยนกันครับ ...
ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่คนไทยที่ไปท่องเที่ยวในจีนมักพูดถึง ก็คือ ระดับเสียงการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะของคนจีนที่ดังกว่าของไทย หรืออาจมีอาการ “หูดับ” ชั่วขณะหลังฟังคนจีนพูดคุยกันทางโทรศัพท์ในลิฟท์
ในขบวนรถไฟความเร็วสูง เราก็อาจรำคาญที่ผู้โดยสารข้างเคียงท่องโลกออนไลน์หรือเพลิดเพลินกับความบันเทิงผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลด้วยเสียงอันดัง รวมไปถึงเสียงอีกทึกของเด็กวัยรุ่นชนิดว่า หลายคนอาจสะดุ้งตื่นหากกำลังงีบพักผ่อนอยู่
ผลการวิจัยในจีนพบว่า ผู้คนเบื่อหน่ายมากขึ้นกับประสบการณ์การเดินทางที่มีเสียงดัง ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากกระแสความนิยมของสมาร์ทโฟน และพฤติกรรมทางสังคมของคนจีน ทำให้ต่างมองหาการเดินทางที่ปราศจากความวุ่นวาย ส่งผลให้การรถไฟจีนพยายามเปิดบริการที่ตอบโจทย์ดังกล่าว
ข้อมูลของการรถไฟจีนระบุว่า รถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่ม “นำร่อง” บริการ “โบกี้สบายหู” มาตั้งแต่ปี 2020 โดยทดลองใช้ใน12 ขบวน ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อยกระดับบริการรูปแบบใหม่ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการใช้เสียงในพื้นที่สาธารณะ
ภาพจาก reuters
ผู้โดยสารท่านใดที่ใช้บริการนี้สามารถสังเกตและรู้สึกถึงความสงบเรียบร้อยภายในห้องโดยสาร การเคารพสิทธิของผู้อื่น และการสร้างสภาพแวดล้อมการเดินทางที่มีอารยะได้ไม่มากก็น้อย
ขณะเดียวกัน ผมยังมองว่า ช่วงที่รถไฟฯ จีนนำร่องบริการนี้ก็เป็นจังหวะที่หลายหัวเมืองในจีนกำลังเผชิญวิกฤติโควิด ทางการจีนอาจต้องการใช้บริการนี้เพื่อลดการพูดคุยระหว่างผู้โดยสารที่นั่งใกล้ชิดกัน และหวังผลด้านการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิดก็เป็นได้
แน่นอนว่า ชาวจีนและชาวต่างชาติคงมีโอกาสใช้บริการนำร่องค่อนข้างจำกัด เพราะในด้านหนึ่ง การรถไฟจีนจำกัดบริการในไม่กี่ขบวน แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนเพิ่งปลดล็อกการเดินทางข้ามมณฑลโดยรวมและเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศในปีนี้เอง
ในเวลาต่อมา จีนก็ออกกฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษทางเสียงที่มีผลบังคับใช้นับแต่เดือนมิถุนายน 2022 เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “พื้นที่เงียบสงบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านที่อยู่อาศัยโรงเรียน โรงพยาบาล และบริการขนส่งสาธารณะ
ผลจากการนี้ ทำให้การรถไฟจีนได้ประกาศผ่านวีแชต (WeChat) ขยายบริการขบวนรถไฟเงียบกว่า 3 เท่าตัวเป็น 37 ขบวนนับแต่เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา โดยครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสำคัญ อาทิ ปักกิ่ง-กวางโจว ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ และเฉิงตู-ฉงชิ่ง
ข้อมูลเงื่อนไขแนวปฏิบัติในการใช้บริการดังกล่าวระบุว่าผู้โดยสารต้องงดเว้นการวางอุปกรณ์ดิจิตัลบนลําโพง ปรับโทรศัพท์ให้อยู่ในโหมด “เงียบ” อาจสวมหูฟังขณะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และลดการสนทนากับเพื่อนผู้โดยสารหรือพูดคุยทางโทรศัพท์
ขณะเดียวกัน ระดับเสียงประกาศข้อมูลสำคัญภายในตู้โดยสารเงียบจะลดลงเหลือ 30-40% ของระดับปกติขณะที่บริกรที่เข็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายบนรถไฟก็จะต้องให้บริการอย่างสงบ
นอกจากนี้ พนักงานประจำรถไฟยังจะช่วยตรวจสอบข้อมูลปลายทางของผู้โดยสารแต่ละคนผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและแจ้งเตือนเป็นรายบุคคล และใส่ใจกับการรักษา “เดซิเบล” ให้อยู่ในระดับต่ําสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ที่ผ่านมา ผมสังเกตว่า การรถไฟจีนมักจะเลือกโบกี้ที่ 3 ของขบวนรถไฟในการให้บริการ “ตู้โดยสารเงียบ” และแนะนําให้ผู้โดยสารที่เดินทางพร้อมกับทารกและเด็กเล็กหลีกเลี่ยงการจองที่นั่งในโบกี้เงียบนี้
ประการสำคัญ ในขบวนรถไฟหัวกระสุนจํานวนมากที่ไม่มีบริการ "ตู้โดยสารเงียบ" ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้โดยสารมีอิสระที่จะสร้างความปั่นป่วนบนรถไฟ
แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะรักษาความเงียบทั้งหมดบนรถไฟ แต่ผู้คนจําเป็นต้องเคารพความต้องการของผู้โดยสารอื่นที่ร่วมเดินทาง โดยไม่รบกวนผู้อื่นด้วยวิธีอื่นใด
ขณะที่ผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่ที่เดินทางไปกับเด็กก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีสําหรับผู้เยาว์โดยประพฤติ/ตนและปฏิบัติตามจรรยาบรรณในที่สาธารณะ
ภาพจาก reuters
ผมเองก็เพิ่งมีประสบการณ์ในการใช้บริการนี้เมื่อเดือนก่อนนี้เองผมจำความได้ว่า ผมอยู่ระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากนครเซี่ยงไฮ้เพื่อไปพูดในงานสัมมนาที่เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเซี่ยงไฮ้-ปักกิ่ง และได้ซึมซับประสบการณ์ใหม่ของ “ตู้โดยสารเงียบ” โดยไม่รู้ตัว
เพราะขณะเดินทางก็เผอิญมีโทรศัพท์เข้ามา ผมก็รับสายและคุยด้วยระดับเสียงปกติ ซึ่งกล่าวแบบไม่เข้าข้างตนเองว่า “ไม่ดัง” ในมาตรฐานการพูดคุยในสังคมจีน
สักพักก็มีบริกรสาวเดินมาเตือนให้พูดเบาๆ พร้อมชี้ไปที่สัญลักษณ์ “งดใช้เสียง” ที่แปะอยู่ ผมถึงได้รู้ว่ากำลังใช้บริการ “โบกี้สบายหู” อยู่ และสังเกตเห็นในเวลาต่อมาว่า ภายในห้องโดยสารมีแผ่นป้าย “งดใช้เสียง” ถูกแปะอยู่หลายจุดด้วยกัน
จำได้ว่า ระหว่างการเดินทางในวันนั้น ผมต้องเปลี่ยนมาใช้วีแชตและไลน์ในการติดต่อสื่อสารกับเครือข่าย และแก้ไขปัญหาเวลาที่ต้องใช้โทรศัพท์ด้วยการลุกออกจากที่นั่งไปคุยด้านนอกตู้โดยสารแทน
ผมยังได้รับแจ้งว่า ในตู้โดยสารเงียบบางเส้นทางอาจมีสิ่งอํานวยความสะดวกพิเศษให้ผู้โดยสารเพิ่มเติมอีกด้วย อาทิ หน้ากากป้องกันดวงตา หูฟัง และอุปกรณ์หยุดการกรน
ผมสอบถามเพื่อนร่วมงานถึงขั้นตอนและวิธีการซื้อตั๋วสําหรับบริการ “ตู้โดยสารเงียบ” ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้จองต้องมองหาบริการรถไฟที่มีข้อความว่า “เงียบ” (ในภาษาจีน) และกดเลือกเพื่อจัดลําดับความสําคัญของตู้โดยสารเงียบเมื่อจองตั๋ว
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ตั๋วที่มีบริการนี้มีจําหน่ายแล้วบนแอปและเว็บไซต์ 12306 แต่แพลตฟอร์มบุคคลที่3 ยังไม่รองรับการจองนี้
ภายหลังการขยายบริการนี้ก็พบว่า คนจีนทั้งที่เคยใช้และยังไม่เคยใช้บริการนี้ก็โต้เถียงกันอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นประเด็นที่มาแรงบนเหว่ยปั๋ว (Weibo) “Twitter (หรือ X) ของจีน”อยู่หลายวันต่อเนื่อง แต่โดยสรุป คนจีนส่วนใหญ่ชื่นชอบและพึงพอใจกับบริการนี้มาก
จากประสบการณ์การใช้บริการ “ตู้โดยสารเงียบ” นึ้ ผมรู้สึกได้ว่า “สบายหูจริง” และมองว่า บริการนี้เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเพื่อธุรกิจ และกลุ่มคนที่ไม่ต้องการถูกรบกวนขณะเตรียมงานอะไรบางอย่าง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ
แต่สำหรับท่านที่ไม่คุ้นชิน ก็อาจทำให้เราหงุดหงิดได้เพราะขนาดผมนั่งพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางด้วยเสียงอันเบา ก็ยังเคยถูกเตือนให้เบาเสียงมาแล้ว
นอกจากนี้ ชาวจีนยังเสนอแนะให้การรถไฟจีนกําหนดหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลงโทษการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เช่น ผู้กระทําความผิดซ้ําจะถูกห้ามมิให้ซื้อตั๋วรถไฟเป็นระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่คนจีนบางส่วนก็เรียกร้องให้ขยายบริการไปยังรถไฟใต้ดิน รถเมล์ประจำทาง และสถานที่อื่นๆ อีกด้วย
สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ชอบความอีกทึกในระหว่างการเดินทางในจีน ท่านมี “ทางเลือก” แล้วครับ ...
ภาพ AFP
ข่าวแนะนำ