TNN เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 3 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 3 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 3 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 3 ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การ “ลื่นไถล” ในเวทีเศรษฐกิจและการเงินโลกในระยะหลัง ทำให้กลุ่ม G7 อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ในการประชุมสุดยอดเมื่อปี 2022 ณ ประเทศเยอรมนี กลุ่ม G7 ได้พยายามแก้เกมส์ด้วยการปรับลดข้อจำกัดในการขยายจำนวนสมาชิก 

โดยเดินหน้าเสริมสร้าง “G7 Plus” และยังไปเชื้อเชิญสมาชิกของกลุ่ม BRICS อย่างอินเดีย และแอฟริกาใต้ เพื่อเสริมพลังกลุ่มเดิม และสลายพลังกลุ่มใหม่อีกด้วย

แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะมากและแรงพอที่จะใช้คานอำนาจกับกรอบความร่วมมือทางการเงินของ BRICS ที่กำลังเติบโตแรงได้หรือไม่ อย่างไร ...

มิติหนึ่งของการพัฒนาความร่วมมือของกลุ่ม BRICS ที่โดดเด่นอย่างมากในระยะหลัง ก็ได้แก่ มิติ “ด้านการเงิน” ที่มีกรอบแนวคิดที่น่าสนใจ รุดหน้าไปเร็ว และกำลังเปลี่ยน “หน้าตา” ของเวทีเศรษฐกิจการเงินโลก

สิ่งแรกที่เกิดเป็นรูปธรรมก็ได้แก่ การพัฒนาสถาบันการเงินของกลุ่ม โดยในปี 2014 BRICS ได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ และเป็นที่ตั้งของ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่” (New Development Bank) ณ บริ๊กส์ทาวเวอร์ เขตผู่ตง ใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ 

NDB มีสถานะเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของสมาชิกและเครือข่าย โดยครอบคลุมทั้งโครงการภาครัฐและเอกชน เหมือนกับการรวมหน้าที่ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าไว้ในที่เดียวกันพร้อมพลังเสริม

ในภาพใหญ่ NDB ถูกออกแบบเพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งทดแทนธนาคารโลกและ IMF ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่ม G7 ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ลองคิดเปรียบเทียบดูนะครับ แม้กระทั่งปัจจุบันที่ BRICS มีสัดส่วนราว 40% ของประชากรโลก ราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกในเชิง PPP 20% ของการค้าโลก และมีอิทธิพลมากกว่า 50% ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่กลับมีสัดส่วนในการออกเสียงในธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างระหว่างประเทศไม่ถึง 15%!!! 

สิ่งนี้ทำให้ความพยายามของจีนและพันธมิตรในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของธนาคารโลกและ INF แฝงไว้ซึ่ง “ปัจจัยทางการเมือง” และอยู่ในวงจำกัด 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นแนวทางความร่วมมือของกลุ่ม BRICS ที่สะท้อนถึงความพยายามในการ “บูรณาการ” และ “ปลดแอก” จากพันธนาการเดิมที่มีอยู่อย่างสร้างสรรค์

ในแง่ของเงินทุนของ NDB สมาชิกหลัก 5 รายของ BRICS ร่วมลงขันในสัดส่วนเท่าๆ กันในกองทุนก่อตั้งรวมเป็นเงิน 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เข้ามาร่วมลงทุนในธนาคารได้ โดยสมาชิกรายใหม่อาจลงทุนในเม็ดเงินที่ต่ำกว่าของสมาชิกก่อตั้งเดิมก็ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการเข้าเป็นสมาชิกใหม่

NDB ยังออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ “โดนใจ” อย่างสร้างสรรค์ อาทิ การตั้งกองทุนสำรองเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในชื่อ “Contingent Reserve Arrangement” (CBA) เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเปิดกว้างให้ประเทศสมาชิกและที่มิใช่สมาชิก

หลายประเทศเหล่านี้ต่างผ่านประสบการณ์ “อันเลวร้าย” จากแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการชำระเงินของ IMF ไม่มากก็น้อย จึงมองหา “ทางเลือกที่ดีกว่า” หลั่งไหลมาใช้ประโยชน์จากกลไกดังกล่าว โดยอาร์เจนตินาก็อาจเป็นตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ

NDB ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่กรอบความร่วมมือเดิมไม่เคยมอบให้ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา NDB ได้เพิ่มจำนวนสมาชิกโดยลำดับ โดยนอกเหนือจากสมาชิกหลัก 5 ประเทศแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่เข้ามาร่วมก๊วนด้วยแล้ว อาทิ ยูเออี อียิปต์ อุรุกวัย และบังคลาเทศ 

อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นที่ร้อนแรงก็คือ การเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นทดแทนการใช้เงินเหรียญสหรัฐฯ ในการชำระการค้า การลงทุน และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อความน่าเชื่อถือของเงินเหรียญสหรัฐฯ และเศรษฐกิจไปโดยปริยาย

ในด้านหนึ่ง สมาชิกของ BRICS ไม่เพียงเดินหน้าใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขายระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ พลังงานและสินค้าเกษตร เท่านั้น แต่ยังดำเนินการในหลายส่วนอย่างคาดไม่ถึง

จีนอาจถือเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มการ “แหวกวงล้อม” ของเงินสกุลหลักเดิมในเวทีระหว่างประเทศ เราเห็นจีนพยายามเพิ่มอุปสงค์การใช้เงินหยวนในหลายวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเงินหยวนให้เข้าไปอยู่ “ตะกร้าเงิน” ของกองทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และขายพันธบัตรและหุ้นกู้ในต่างประเทศในรูปของเงินหยวน

จีนยังเชิญชวนประเทศเพื่อนบ้านมาค้าขายกันโดยชำระด้วยเงินหยวน และขยายไปยังคู่ค้าในภูมิภาคอื่น 

หากพิจารณาจากการค้าภายในกลุ่ม BRICS ก็นับว่ามีนัยสำคัญและมีศักยภาพสูงมาก เพราะ จีนนับเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของเกือบทุกประเทศสมาชิก อาทิ บราซิล อินเดีย และรัสเซีย โดยเพิ่มขึ้นราว 20% ต่อปี สูงกว่าอัตราการค้าระหว่างประเทศของจีนถึงราวเท่าตัว 

และด้วยการเติบโตและความแนบแน่นทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ก็สะท้อนว่า การค้าภายในมีแนวโน้มที่จะใช้เงินหยวนและเงินสกุลท้องถิ่นอื่นเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งในอนาคต


ประการสำคัญ จีนยังเดินหน้าโครงการเงินหยวนดิจิตัล ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวสู่สายตาของชาวต่างชาติในช่วงที่หังโจวจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในเดือนกันยายน ศกนี้

คราวหน้าผมจะพาไปชวนคุยกันต่อถึงความพยายามของ BRICS ในการลดการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่ดำเนินไปรวดเร็วกว่าที่เคยคาดคิดไว้มาก ...

ข่าวแนะนำ