เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
นอกจากด้านการค้า ธุรกรรมการลงทุนระหว่างกันภายในกลุ่ม BRICS ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จีนถือเป็น “นักลงทุน” รายใหญ่สุดของกลุ่ม เราได้เห็นธุรกิจน้อยใหญ่ของจีนขยายการลงทุนในรัสเซีย ทดแทนการถอนตัวของธุรกิจกลุ่ม G7 แบบเนียนตา ขณะที่รัสเซียเดินหน้าโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติผ่านไซบีเรียไปยังจีนโดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากจีน
นอกจากนี้ รัสเซียก็ประกาศขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในอินเดีย ขณะเดียวกัน รัสเซียและอินเดียก็ยังบรรลุความร่วมมือในการลงทุนในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมาที่จีนทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม BRICS (ที่หมุนเวียนกันไป) แนวคิดและนโยบายใหม่ของ BRICS ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาก็ยังได้ถูกนำเสนออย่างสร้างสรรค์ อาทิ การพยายามหันมา “ยืนบนลำแข้งของตนเอง” การพัฒนาที่ “รวยไปด้วยกัน” และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
แนวคิดและนโยบายเหล่านี้อาจดูคล้ายกับสิ่งที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรผลักดันการดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่สำหรับผมแล้ว แนวคิดและนโยบายใหม่ดังกล่าวก็เต็มไปด้วยความ “สร้างสรรค์” และแฝงไว้ด้วยความ “แยบยล” ที่ทำให้ประสิทธิผลการดำเนินงานของกลุ่ม BRICS “เหนือกว่า” ของกลุ่ม G7
จีนมุ่งมั่นกับมิติของ “การพัฒนา” โดยนำเอาแนวคิดและนโยบายที่ตนเองพัฒนาจนตกผลึกมาขยายผลในกลุ่ม BRICS อาทิ ข้อริเริ่มทางการค้าและการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไล่ไปถึงกรอบความเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจดิจิตัล กลไกความร่วมมือด้านอวกาศ และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน
ประการสำคัญ แนวคิดและนโยบายใหม่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่จีนเก่งและเห็นประโยชน์ในการนำไปแบ่งปันและประยุกต์ใช้กับสมาชิกอื่น
ยิ่งเมื่อผสมผสานกับ “ผลประโยชน์ร่วมในระยะยาว” ก็ทำให้สมาชิกกลุ่มให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มดูเหมือนจะพุ่งทะยานไปอีกระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน ประเทศนอกกลุ่มก็ให้ความสนใจอยากเข้ามาร่วมโครงการและสมัครเป็นสมาชิก ทำให้ BRICS “เนื้อหอม” อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
หากเราพิจารณาเปรียบเทียบกับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ เอเปค (APEC) G7 และ G20 ก็พบว่าดูจะมีข้อจำกัดในการเพิ่มจำนวนสมาชิกและอิทธิพลต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก แต่ BRICS ยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ที่สามารถระดมสรรพกำลังและแสดงบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาและความร่วมมือจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้อีกมาก
ในทางกลับกัน กลุ่ม G7 ดูจะอยู่ในช่วง “ขาลง” อย่างชัดเจน กล่าวคือ ในช่วงหลายปีหลัง สมาชิกกลุ่ม G7 ต่างประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง อาทิ สภาวะเงินเฟ้อ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นตัว ส่งผลให้จีดีพีของ BRICS สามารถก้าวแซง G7 ได้ในที่สุด
นักวิชาการหลายสำนักประเมินขนาดเศรษฐกิจจากด้านกำลังซื้อ (PPP) ในปี 2022 พบว่า จีดีพี โดยรวมของ BRICS ก้าวแซงของ G7 โดยจีดีพีของ BRICS มีสัดส่วน 31.5% ของจีดีพีโลก ขณะที่สัดส่วนของ G7 ต่อเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือราว 30.7%
ทั้งนี้ ผู้เล่นรายหลักของ BRICS ก็ได้แก่ จีนที่พัฒนาเศรษฐกิจของตนเองให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้จีดีพีจากมุมมองด้าน PPP ของจีนที่มีด้านปริมาณอยู่เดิมเสริมด้วยเชิงคุณภาพ ก้าวแซงสหรัฐฯ นับแต่ปี 2015 และทิ้งห่างมากขึ้นโดยลำดับ
มองออกไปข้างหน้า เศรษฐกิจของ BRICS มีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยที่สูงกว่าของ G7 อยู่ต่อไป
ผมกำลังบอกว่า BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา ได้กลายเป็นกลุ่มประเทศหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน การเพิ่มจำนวนสมาชิกยังเป็น “วาระ” สำคัญของกลุ่ม BRICS ที่ต้องการสร้างพื้นที่ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประเทศกำลังพัฒนาในวงกว้าง และขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงข้อครหาในการพัฒนากลุ่มความร่วมมือที่ “ทรงอิทธิพล” ด้านการเมืองและการทหาร
ในปี 2022 กลุ่มได้กำหนดนโยบาย “BRICS Plus” เพื่อขยายความร่วมมือออกไปสู่สมาชิกเดิม โดยปัจจุบัน BRICS มีประเทศที่สนใจเข้ามาเป็นสมาชิกมากกว่า 10 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรของสมาชิก BRICS เดิม จีนและรัสเซียได้ดึงเอาพันธมิตรในกรอบความร่วมมืออื่นเข้ามาเสริมพลังกันในเวทีนี้
ความทุ่มเทในการปูพื้นและสานสัมพันธ์จนนำไปสู่เวทีการประชุมสุดยอดระหว่างจีนกับหลายกลุ่มประเทศ อาทิ แอฟริกา อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง รวมทั้งเอเชียกลาง ผ่านองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ทำให้คาดว่าเราจะได้เห็นคาซักสถาน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี และบาห์เรนเข้ามาเป็นสมาชิกในอนาคตอันใกล้
ขณะเดียวกัน อินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และจำนวนประชากรที่มากสุดในอาเซียน ก็เป็นหนึ่งประเทศที่เข้าคิวรออยู่ ขณะที่ในทวีปแอฟริกา ก็คาดว่าจะมีอียิปต์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย และเซเนกัล เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS เช่นกัน
แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้กระทั่งเม็กซิโกที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของแคนาดาและสหรัฐฯ ภายใต้เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ที่ภายหลังเลี่ยนมาใช้ชื่อ ความตกลงแคนาดา-สหรัฐฯ-เม็กซิโก (CUSMA)
รวมทั้งนิคารากัว และอาร์เจนตินา ซึ่งอยู่ในภูมิภาคละตินอเมริกา พื้นที่อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ส่อเค้าว่าจะกระโดดเข้าร่วม BRICS ในอนาคตเช่นกัน
สิ่งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ของกลุ่ม BRICS ในอนาคต แต่ยังบ่งบอกถึงความไม่มั่นใจของเม็กซิโกและประเทศในภูมิภาคที่มีต่อสหรัฐฯ ในการสานต่อความเป็นผู้นำของการค้าเสรีที่เป็นธรรม และการเป็นแกนหลักในเวทีเศรษฐกิจโลก
ด้วยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพดังกล่าว เราจึงพอคาดการณ์ได้ว่า ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่าง BRICS และ G7 จะถ่างกว้างยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เศรษฐกิจของกลุ่ม BRICSคาดว่าจะมีสัดส่วนเป็นถึงกว่า 50% ของจีดีพีโลกภายในปี 2030 หรืออีกเพียง 7 ปีข้างหน้าเท่านั้น!!!
คราวหน้าผมจะพาไปเจาะลึกเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือของกลุ่ม BRICS ในด้านการเงิน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และความน่าเชื่อถือของเงินเหรียญสหรัฐฯ ในเวทีเศรษฐกิจโลก ...