SET ESG Ratings ทำสถิตินิวไฮ 228 ปี 67 บริษัทจดทะเบียนไทยใส่ใจมากขึ้น
บริษัทจดทะเบียนไทยเร่งปรับตัวการดำเนินงานด้าน ESG อย่างเข้มข้น โดยให้ความสำคัญในเรื่องการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญของธุรกิจที่มีผลกระทบและการวางแผนกลยุทธ์รับมือ ขณะที่ในปี 2567 หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ทำสถิตินิวไฮถึง 228 บริษัท เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่นักลงทุน นำไปใช้เปรียบเทียบ เพื่อประกอบการลงทุนได้
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่นับวันจะรุนแรงขึ้น เรื่อง “ความยั่งยืน” กลายเป็นกติกาที่กำหนดให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบหรือทำธุรกิจโดยคำนึงถึงESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environment: E) สังคม (Social: S) และบรรษัทภิบาล (Governance: G) ในแวดวงการเงินการลงทุนก็ใช้‘ข้อมูลการดำเนินงานESG’ เป็นตัวตัดสินว่าบริษัทไหนทำเรื่องESGได้ดีบ้างซึ่งทั่วโลกมีผู้ประเมินและจัดอันดับเรตติ้งด้าน ESG มากมายสำหรับประเทศไทยมีหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ที่คัดบริษัทตัวท็อปด้าน ESG จนมีนักลงทุนนำไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings คือ หุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คัดกรองมาแล้วว่าดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล โดยจะประกาศผลในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
โดยบริษัทที่จะได้อยู่ในทำเนียบหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ต้องผ่านเกณฑ์คัดกรองถึง 3 ด่าน
ด่านแรก คือ เกณฑ์คัดกรองเบื้องต้น เช่น ไม่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ไม่ถูกขึ้น SP จากการส่งงบล่าช้าไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย CB, CS, CC, CF เป็นต้น
ด่านที่ 2 คือ เกณฑ์คะแนนจากแบบประเมิน โดยบริษัทต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 50% ในแต่ละมิติ ESG
ด่านที่ 3 คือ เกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทซึ่งจะพิจารณาตลอดกระบวนการหากไม่เป็นไปตามคุณสมบัติจะถูกคัดออกจาก SET ESG Ratings ระหว่างปีได้ เช่น ไม่เป็นบริษัทที่ส่งงบการเงินล่าช้า ไม่ถูกทางการตัดสินความผิดในประเด็นด้าน ESG และต้องมีกำไรสุทธิอย่างน้อย 3 ใน 5 ปี เป็นต้น
บริษัทที่สามารถผ่านด่านทั้งหมดนี้ จึงจะได้เป็นหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ซึ่งแบ่งเป็น4 ระดับ ได้แก่ AAA (90-100 คะแนน) AA (80-89 คะแนน) A (65-79 คะแนน) และ BBB (50-64 คะแนน)
และหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ถือเป็นตัวช่วยสร้างความน่าสนใจให้บริษัทในสายตาของนักลงทุนทำให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนใช้เปรียบเทียบการดำเนินงานESG ของแต่ละบริษัท เพื่อประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน สะท้อนได้จากเม็ดเงินลงทุนด้าน ESG ในไทยกว่า 1.6 แสนล้านบาทที่นำ SET ESG Ratings ไปใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งในการลงทุน เช่น กองทุนวายุภักษ์ หนึ่งมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และกองทุนThaiESGกว่า 51กองทุน มูลค่ารวมราว 14,545ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่30พฤศจิกายน2567)
สำหรับหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ในปี 2567ทำสถิตินิวไฮถึง 228 บริษัท โดยหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 มีด้วยกันทั้งสิ้น228 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 37 บริษัท นับว่าน่าตื่นเต้นเป็นนิวไฮ ให้นักลงทุนได้จับจังหวะลงทุนใหม่ๆ ด้วยตัวเลือกใหม่สอดคล้องกับจำนวนบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมการประเมินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดแตะ320บริษัทเป็นครั้งแรกในปีนี้
หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ทั้งหมดนี้ แบ่งเป็น ระดับ AAA 56 บริษัท ,ระดับ AA 80 บริษัท ,ระดับ A 71 บริษัท และระดับ BBB 21 บริษัท ซึ่งน่าสนใจมากว่าระดับที่มีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ กลุ่ม AAA จากเดิมมีเพียง 33 บริษัทกลายเป็น 56 บริษัทในปีนี้
นอกจากนี้ หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ยังกระจายอยู่ในทั้ง8 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีกลุ่มธุรกิจบริการมากที่สุดถึง43บริษัทตามมาด้วยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่กลุ่มละ 34 บริษัท
มีบริษัทที่สมัครเข้าร่วมประเมินเป็นปีแรกและได้ติดอยู่ในทำเนียบ SET ESG Ratings เลย55 บริษัท สะท้อนว่าบริษัทจดทะเบียนไทยกำลังเร่งปรับตัวและยกระดับ ESG อย่างเข้มข้นโดยเฉพาะเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ทั่วโลกที่เริ่มกลายเป็นกฎเกณฑ์ และนักลงทุนกำลังมองหาเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
ขณะที่จุดแข็งหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings พบว่า ทุกบริษัทกำลังเร่งปรับตัวใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1) วิเคราะห์ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ (Materiality) แบบชัด ๆ ทุกบริษัทเน้นเปิดเผยกระบวนการวิเคราะห์และระบุประเด็นที่เป็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน โดยเทียบประเด็นกับเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) พร้อมระบุว่าแต่ละประเด็นมีผลกระทบอะไรต่อธุรกิจและธุรกิจวางกลยุทธ์หรือแผนธุรกิจมาจัดการกับประเด็นเหล่านั้นอย่างไร โดยมักตั้งเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
2) ลูกค้ายังสำคัญเสมอ ทุกบริษัทเน้นเรื่องการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยกำหนดเป้าหมายในการรักษาและพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นำผลการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าไปพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงกระบวนการทำงานของบริษัทมุ่งสร้างการเติบโตในระยะยาว
3) เน้นหัวใจสีเขียว บริษัทส่วนใหญ่เน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยมักกำหนดและเปิดเผยเป้าหมายในการลดการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ และการลดการปล่อยของเสีย โดยดำเนินโครงการที่ให้พนักงานมีส่วนร่วม รวมถึงจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ดี บริษัทจดทะเบียนยังควรพัฒนาเพิ่มเติมเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดความเสี่ยงจากการจัดหาวัตถุดิบหรือบริการที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ การสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน
สุดท้ายนี้หากจะมองหาตัวช่วยในการลงทุน มองหาหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ซึ่งหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้ประกอบในการตัดสินใจลงทุน โดยอาจนำไปใช้เป็นตัวสกรีนหุ้นเบื้องต้นควบคู่กับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่สนใจ หรือปรับน้ำหนักการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อบริหารความเสี่ยงหรือสร้างโอกาสในการหาผลตอบแทนในระยะยาว
ข่าวแนะนำ