TNN ตลท.สั่ง RMLแจงเงินลงทุนล่วงหน้า ด้อยค่าสูง

TNN

รายการ TNN

ตลท.สั่ง RMLแจงเงินลงทุนล่วงหน้า ด้อยค่าสูง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ บมจ. ไรมอน แลนด์ และติดตามคำชี้แจงของบริษัท หลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ บมจ. ไรมอน แลนด์ ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ใน 3 ประเด็นสำคัญ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ บมจ.ไรมอน แลนด์  หรือ RML ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ในประเด็น 1) การจ่ายเงินล่วงหน้าค่าเงินลงทุนให้กรรมการบริหาร และรายการด้อยค่าในเงินจ่ายล่วงหน้าค่าเงินลงทุนที่มีนัยสำคัญ    2)การลงทุนในตั๋วเงินแปลงสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและวันครบกำหนด และ 3) ภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุนและจ่ายค่าหุ้นแทนผู้ลงทุนจากการลงนามสัญญาเพื่อร่วมลงทุน  


ทั้งนี้ ข้อมูลสำคัญในงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2567 พบว่า 1) ในเดือนก.ค.ปี 2567 บริษัทย่อย (คือ บริษัทอาร์ เอ็ม แอล ธำรง) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงและฝากเงินมัดจำให้กรรมการบริหารของบริษัท เพื่อร่วมลงทุนในบริษัทย่อยทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  โดย บมจ.ไรมอน แลนด์ ได้เงินจ่ายล่วงหน้าค่าเงินลงทุนจากบันทึกข้อตกลงเงินจ่ายล่วงหน้าค่าเงินลงทุนวงเงิน 100 ล้านบาท จากมูลค่ายุติธรรม (FV) ที่  93.95 ล้านบาท  


2) บมจ.ไรมอน แลนด์ ได้เงินจ่ายล่วงหน้าค่าเงินลงทุนวงเงิน  407 ล้านบาท ซึ่งมีการด้อยค่าไปราว 305 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของเงินจ่ายล่วงหน้าข้างต้น โดยการลงทุนดังกล่าวทยอยตั้งแต่ปี 2566 และปี 2567 จากสัญญาร่วมทุนและสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญ ในเดือนก.ย. ปี 2562 โดยได้ลงนามสัญญาร่วมทุนทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง (ซึ่ง RMLถือหุ้น ร้อยละ 50) และได้ทยอยชำระล่วงหน้าค่าเงินลงทุน และต่อมาในเดือนธ.ค. ปี 2566 ครบกำหนดสัญญาลงทุน แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขใหม่  


รวมทั้งบริษัทได้มีการลงทุนในตั๋วเงินแปลงสภาพของบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริการาว 7.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 261 ล้านบาท ในเดือนส.ค.ปี 2565 ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน ส.ค.ปี 2567 แต่มาในเดือน ก.ค. ปี 67 ข้อตกลงในสัญญาและวันที่ครบกำหนดเปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง RMLอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทผู้ออกตั๋วเงิน  

 

และ 3. ภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุนและจ่ายค่าหุ้นแทนผู้ลงทุนจากการลงนามสัญญาเพื่อร่วมลงทุน เงินรับล่วงหน้าค่าหุ้นและเงินมัดจำจากผู้ลงทุน 398 ล้านบาท  โดย RML มีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุนและจ่ายค่าหุ้นแทนผู้ลงทุน จากการลงนามสัญญากับผู้ลงทุน เพื่อร่วมลงทุนในบริษัทย่อยทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ซึ่งผู้ลงทุนชำระค่าหุ้นและเงินมัดจำค่าหุ้นแล้วในปี 2565 และปี 2567)  


นอกจากนี้ RML ยังมีเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่นและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ รวม 2,708  ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 69 ของหนี้สินรวม) และเดือนพ.ย.ปี 2567 ได้ขายหุ้นกู้ได้ 188 ล้านบาท   

 

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ RML ชี้แจงข้อมูลดังนี้

1. เงินจ่ายล่วงหน้าค่าเงินลงทุนสุทธิ

1.1 ที่มาและความจำเป็นที่ต้องฝากเงินมัดจำให้กรรมการบริหารตามข้อ 1.1 รายละเอียดของกรรมการบริหาร สัญญาร่วมทุนและบริษ้ทย่อยที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การร่วมลงทุนก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือไม่ สาเหตุที่FV ลดลงมาตรการติดตามการคืนเงินมัดจำ

1.2 รายละเอียดการลงทุนและความคืบหน้าของรายการที่ 1.2 เหตุผลและความเหมาะสมที่ชำระค่าเงินก่อนจัดตั้งบริษัทย่อย มาตรการดูแลเงินดังกล่าว เงื่อนไขการชำระของคู่สัญญาสาเหตุและความเพียงพอของการตั้งด้อยค่า มาตรการติดตามและกรอบเวลาการรับคืนเงินหากยกเลิกสัญญาผลกระทบต่อของบริษัท

2. รายละเอียดของตั๋วเงินและผู้ออกตั๋วเงินตามรายการข้อ 2 สรุปเงื่อนไขการแปลงสภาพเป็นหุ้น สาเหตุที่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาและวันที่ครบกำหนดของตั๋วเงินผลกระทบต่อบริษัท

3. สรุปสัญญาและกำหนดเวลาร่วมลงทุนตามรายการข้อ 3 ภาระผูกพันที่ RMLต้องจ่ายเพิ่มและสาเหตุที่ต้องจ่ายแทนผู้ลงทุน ผลกระทบต่อสภาพคล่อง และหากยกเลิกสัญญา กลุ่มบริษัทต้องคืนเงินมัดจำอย่างไรและเมื่อใด  นอกจากนี้ ขอให้ชี้แจงแหล่งเงินทุนและแผนชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระใน 1 ปีด้วย

4.ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบต่อการทำรายการในตารางข้างต้น การติดตามความคืบหน้าของการทำรายการนโยบายและการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนของบริษัท


โดยขอให้ชี้แจงข้อมูลในประเด็นดังกล่าว ผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2567  ส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบ ให้ชี้แจงภายในวันที่ 2 มกราคม ปี 2568  



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง