TNN ธุรกิจผลิตรถถังพร้อมก้าวสู่ฮับภูมิภาค ดันเศรษฐกิจไทย

TNN

รายการ TNN

ธุรกิจผลิตรถถังพร้อมก้าวสู่ฮับภูมิภาค ดันเศรษฐกิจไทย

ธุรกิจผลิตรถถังพร้อมก้าวสู่ฮับภูมิภาค ดันเศรษฐกิจไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันธุรกิจผลิตรถถังไทยซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้เป็นอีกเครื่องยนต์ตัวใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ชูบริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด เป็นต้นแบบธุรกิจ "ไทยทำ ไทยใช้" และเตรียมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ก้าวทันเทคโนโลยี ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย หรือ New S-curve  ที่มีศักยภาพขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แบบ“ไทยทำ ไทยใช้” ใช้ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำด้วยฝีมือคนไทยทั้งหมด อาทิ ยางพารา เหล็ก เครื่องกลเครื่องจักร กระจบ และแรงงาน 


โดยเฉพาะบริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ซึ่งได้ใบรับรองสินค้า Made in Thailand (MiT) กับ ส.อ.ท. มาเป็นแต้มต่อให้ภาครัฐซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัท ชัยเสรีฯ มีบทบาทในฐานะผู้ผลิต ซ่อม และส่งออกรถหุ้มเกราะสัญชาติไทยไปประจำการในกองทัพขององค์กรสหประชาชาติ หรือ UN และอีก 46 กองทัพทั่วโลก ซึ่งมองว่าจะสามารถก้าวสู่ฮับภูมิภาคได้ในอนาคต และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อหน่วยสูง มีซัพพลายเชนที่พร้อมจึงต้องการผลัดดันให้เป็นอีกเครื่องยนต์ใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย


 " สาเหตุที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมองว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเป็นดาวรุ่งที่เราควรให้ความสนใจและสนับสนุน เพราะว่าเราจะเห็นได้ว่าตอนนี้มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geo-politics) มาก เพราะฉะนั้นขีดความสามารถในการดูแลความมั่นคงหรือการปกป้องอธิปไตยของแต่ละประเทศจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรมเรื่องสำคัญคือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน  ดังนั้น การที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เข้มแข็ง จะสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดูแลพลังงานของเราได้  จึงกำหนดเป้าหมายให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรม ที่สภาอุตสาหกรรมฯ ต้องการสนับสนุนและส่งเสริม และวันนี้เป็นโอกาสดีที่ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มารับฟังความเห็นของบริษัทที่เป็นแนวหน้า (Pioneer) ของอุตสาหกรรม รับทราบข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ การวิจัย และการสนับสนุนจากภาครัฐ  ส.อ.ท.จะรับข้อเสนอแนะต่างๆ  ไปผลักดันในเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตยิ่งขึ้นต่อไป เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อหน่วยสูงมากจริงๆ" นายนาวา กล่าว 


รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงซัพพลายของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ว่า จริงๆ ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยปัจจุบันมีบริษัที่สามารถรวมเป็นซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้อยู่แล้ว เพราะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศใช้วัตถุดิบหลากหลาย อย่างเช่น อุตสาหกรรมเหล็กก็สามารถเป็นซัพพลายได้ อุตสาหกรรมแก้วกระจบ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลโลหะการ โดยสมาชิกสภาอุตสาหกรรมหลายๆ บริษัทเป็นสมาชิกบางกลุ่มอยู่แล้ว สามารถมาจับมือตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ได้ จึงมีความมั่นใจและเป็นไปได้สูง เพราะไทยเรามีข้อได้เปรียบที่มีอุตสาหกรรมพื้นฐานบางตัวที่เข้มแข็งอยู่แล้ว และมีบริษัท Pioneer (บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด)ด้านนี้ ถ้าสามารถปรับปรุงแห้ไข (fine-tune) หรือปรับกฏระเบียบบางอย่าง หรือภาครัฐสนับสนุนในบางเรื่อง ผมมั่นใจว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นดาวรุ่ง หรือ New S-curve ของเราแน่นอน  


นายกานต์ กุลหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตด้านยานเกราะและชิ้นส่วนยานยนต์ทางการทหารของไทยที่ได้รับความเชื่อถือมายาวนานกว่า 50 ปี โดยมีผลงานที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น ยานเกราะ "First Win" และล่าสุดคือ "AWAV 8x8" ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งบนบกและในน้ำ


โดย  AWAV ได้รับเลือกในโครงการยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเรือไทย ชัยเสรีจึงเป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่มีศักยภาพในการผลิตยานพาหนะทางการทหารเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ภูฏาน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น


 อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจนี้มีปัจจัยท้าทายหลายด้าน เช่น การแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่จากต่างประเทศ ความผันผวนของค่าเงิน และกฎระเบียบการส่งออกที่เข้มงวด อีกทั้งยังต้องพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการทางยุทธวิธีที่ซับซ้อนขึ้น แต่บริษัทก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ มาต่อเนื่อง ทำให้การผลิตสินค้าด้านการทหารของบริษัทได้มาตรฐานสากล และการขยายสู่ตลาดต่างประเทศทำให้บริษัทได้รับการยอมรับในฐานะผู้ส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ


ทั้งนี้ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบและแรงงานที่มีศักยภาพจากภาคการผลิตยานยนต์ในไทยเดิม ขณะที่ปัจจุบันบริษัทขึ้นมาเป็นผู้ผลิตด้านยานเกราะและชิ้นส่วนยานยนต์ทางการทหารของไทยที่ได้รับความน่าเชื่อถือโดดเด่น เช่น ยานเกราะล้อยาง "AWAV 8x8" ที่สามารถปฏิบัติงานได้ทั้งบนบกและในน้ำ 


ส่งผลให้บริษัทมีรายได้เติบโตราวร้อยละ 25 ต่อปี มีหลายได้หลักพันล้านบาท ขยายการผลิตรองรับทั้งตลาดในประเทศ และส่งออกไปกว่า 46 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตบนพื้นที่ 111 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 เพื่อให้เป็นโรงงานที่จะมารองรับโรงงานประกอบรถ และเป็นสนามทดสอบรถ ก่อนส่งมอบให้ผู้รับจ้าง เบื้องต้นจะใช้งบลงทุนก่อสร้างและเครื่องจักรราว 3,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทมีโรงงานผลิตรถเกราะล้อยาง First Win 4x4 รถเกราะล้อยาง 8x8 โรงผลิตชิ้นส่วน โรงผลิตโครงสร้างกระดองรถถัง โรงซ่อมและทดสอบเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง โรงประกอบรถเกราะล้อยาง อยู่บนพื้นที่โรงงาน 87 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี  จึงนับเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างซัพพลายเชนที่มีมูลค่าสูงในอนาคตมีความพร้อมก้าวสู่ฮับของภูมิภาคได้

 

"จะเป็นฮับของภูมิภาคได้หรือไม่ อันนี้ผมมองเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย ที่ดูจากภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก จีโอกราฟฟิก เราจะเหมือนเป็นเซ็นเตอร์เลย เพราะฉะนั้นในภาพรวมของซัพพลายเชนต่างๆ เราจะสามารถเข้าไปซัพพอร์ตลูกค้าได้มากกว่าที่มาจากยุโรปและอเมริกา และในมุมมองที่ในสาธารณะ คือ อาเซียนมีความรวมมือในหลายมิติ จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เราเข้าไปประมูลงานที่หลากหลายประเทศในอาเซียน เขายินดีที่จะซื้อของเรามากกว่าทางยุโรป เพราะเขาเชื่อมั่นเมื่อเวลามีปัญหาใน Region เราสามารถซัพพอร์ตกันได้" นายกานต์ กล่าว 


ด้านนางนพรัตน์ กุลหิรัญ หรือ มาดามรถถัง ผู้ก่อตั้ง บริษัทชัยเสรีฯ มาตั้งแต่ปี 2511 เป็นผู้ผลิตด้านยานเกราะและชิ้นส่วนยานยนต์ทางการทหารของไทยที่ได้รับความเชื่อถือมายาวนานกว่า 50 ปี กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมน่าจะเป็นเรื่องต้นทุนภาษีที่มีการเรียกเก็บสูง นอกจากนี้ ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้  


โดยบริษัท ชัยเสรีฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างแบรนด์ด้านยุทโธปกรณ์ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ให้ภาครัฐสามารถนำไปใช้งานจริง ทั้งด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง เพื่อเสริมสร้างหลักประกันทางด้านความมั่นคงของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับยุทโธปกรณ์ไทยที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 


ทั้งนี้ จากข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ  EEC ระบุว่า อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเป็น New S-curve เนื่องจากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมทางทหารของไทย โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และการยกระดับประสิทธิภาพงบประมาณกระทรวงกลาโหม ซึ่งในปี 2563 มีวงเงิน 1.24 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4 ของงบประมาณประเทศ  และเป็นอันดับ 3 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งหากพิจารณามูลค่าของตลาดในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทั่่วโลก ในยามที่โลกมีสถานการณ์ geo-politics จะมีมูลค่าสูงขนาดไหน


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง