TNN TDRI ตรวจการบ้านรัฐบาล"ประยุทธ์ 2"

TNN

รายการ TNN

TDRI ตรวจการบ้านรัฐบาล"ประยุทธ์ 2"

TDRI ประเมินผลงานรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่

ตลอดระยะเวลา 4 ปี รัฐบาลประยุทธ์ 2  ที่จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562  ได้สร้างผลงานที่สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมไว้หลายด้าน และดำเนินโครงการจำนวนหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อประเทศ  ซึ่งสมควรได้รับการสานต่อ  ในทางกลับกัน รัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอีกหลายด้านที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือก่อให้เกิดปัญหา นโยบายเหล่านี้สมควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งยกเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่


ดังนั้น "รัฐบาลใหม่" ที่จะตั้งขึ้นมามีโจทย์ท้าทายมากมายที่รออยู่  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีอีดีอาร์ไอ  ได้ประเมินนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 2  เพื่อหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการระบุโจทย์ท้าทาย และเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่  โดยทีดีอาร์ไอเน้นประเมินนโยบาย 2 ด้านหลักคือ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืน  รวม 10 นโยบาย รายละเอียดแต่นโยบายเป็นอย่างไร ติดตามได้ในรายการเศรษฐกิจInsight วันนี้ (15ส.ค.66) 


สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เปิดเผยรายงานการประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 และข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลใหม่ โดยรายงานนี้มุ่งประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ในด้าน “มั่งคั่งและยั่งยืน” แต่ไม่รวมด้านความ “มั่นคง” ซึ่งคณะผู้ประเมินไม่มีความถนัด

TDRI ตรวจการบ้านรัฐบาลประยุทธ์ 2


โดยผลงานรัฐบาล 2 ด้าน 10  นโยบายนั้น    ด้านความ “มั่งคั่ง”  ประกอบด้วย  การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม, การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาภาคเกษตร และการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ผลงานของรัฐบาลด้านความ “ยั่งยืน”  ประกอบไปด้วย การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ,การคุ้มครองทางสังคม ,การแก้ปัญหาแรงงาน ,นโยบายด้านสุขภาพ  และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม   


ทั้งนี้  10 นโยบายมีผลงานและข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลใหม่อย่างไรบ้าง ไปเจาะและขยายแต่ละนโยบายกัน 


เริ่มจากผลงานด้านความมั่งคั่ง  “การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”  (EEC) เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve industries) ต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมีหลายโครงการ 


เช่น การพัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยส่วนที่ปรากฏว่ามีความก้าวหน้ามากคือ หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น  ซึ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสถานประกอบการได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไม่เกินร้อยละ 50 และสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนของตนไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2.5 เท่า  ทั้งนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมกว่า 9,600 คน


และการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ  โดยสำนักงาน EEC ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม คนไทยจำนวน 5 หมื่นคน เพื่อสร้างฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยเพื่อการศึกษาวิจัยและสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ซึ่งจนถึงเดือนมีนาคม 2566 มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไปแล้วกว่า 1 หมื่นตัวอย่าง


ตลอดจนการดึงดูดการลงทุน โดยภาพรวมพื้นที่ EEC สามารถดึงดูดการลงทุนได้มาก โดยในช่วงปี 2562-2565 มีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC รวม 870,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 45 ของการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมดของบีโอไอในช่วงเวลาดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม มีหลายโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้านัก ทั้งที่มีความสำคัญสูงในระดับเป็น “เรือธง” เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีความล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาก ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ยังมีสัดส่วนต่ำมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 



TDRI ตรวจการบ้านรัฐบาลประยุทธ์ 2

สำหรับ “ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่” นั้น ควรสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ EEC ไปต่อเนื่อง แต่ควรทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เป็นต้น 


ด้านนโยบาย “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม” รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีการลงทุนด้านโครงสร้างคมนาคมต่อเนื่องจากรัฐบาลประยุทธ์ 1  สามารถผลักดันโครงการบางส่วนสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเหลือง รวมถึงสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการ นอกจากนี้ยังอนุมัติเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และบ้านไผ่-นครพนม


แต่ไม่สามารถผลักดันโครงการสำคัญอย่างน้อย 4 โครงการให้สำเร็จได้ คือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกระเบา-จิระ ซึ่งทำให้เส้นทางรถไฟทางคู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เสร็จสิ้นไปมากแล้วไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ , โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเกิดความล่าช้าในการประมูล และไม่มีความคืบหน้าดำเนินการให้เกิดตั๋วร่วมค่าโดยสารฯ , โครงการระบบขนส่งมวลชนในส่วนภูมิภาคและโครงการระบบขนส่งในพื้นที่ EEC ยังไม่เกิดขึ้น  TDRI ตรวจการบ้านรัฐบาลประยุทธ์ 2


ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ เร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และออกกฎหมายการขนส่งทางรางเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมให้บริการเดินรถไฟได้ ขณะเดียวกันเร่งแก้ไขปัญหาการประมูลสัญญาสัมปทานสายสีส้ม และเร่งรัดให้เกิดตั๋วร่วมค่าโดยสารทั้งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทาง เพื่อที่ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลง รวมไปถึงเร่งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค กระจายอำนาจและสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นให้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้   


ส่วนนโยบาย “การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล”   รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ประกาศให้ความสำคัญต่อการพัฒนา “เศรษฐกิจดิจิทัล” และ “บริการรัฐบาลดิจิทัล” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ปฏิรูปการบริหารจัดการของภาครัฐ และยกระดับทักษะของคนไทย 


ผลงานที่สำคัญ มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับคือ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566  ตลอดจนกฎหมายลำดับรองต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยให้อันดับ E-government Development Index (EGDI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 73 ในปี 2561 เป็นอันดับที่ 55 ในปี 2565 


อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายต่างๆยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมนัก  นอกจานี้ ยังเกิดปัญหาจากการมีแอปพลิเคชันของภาครัฐจำนวนมากที่ใช้งานไม่ได้ หรือให้บริการซ้ำซ้อนกัน ซึ่งทำให้เกิดความสับสนของประชาชน  การสำรวจเบื้องต้นพบว่า หน่วยงานภาครัฐได้พัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ขึ้นมาถึงประมาณ 300 แอปพลิเคชัน ยิ่งไปกว่านั้นแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐแห่งเดียวก็ยังให้ประชาชนลงทะเบียนซ้ำหลายรอบ ซึ่งทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็น


สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ควรพัฒนาบริการรัฐบาลดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ด้วยการบูรณาการบริการของหน่วยงานรัฐทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเร่งออก พ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างเต็มที่โดยเร็วและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด


สำหรับนโยบาย “การพัฒนาภาคเกษตร”  รัฐบาลประยุทธ์ 2 ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่าการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร โดยโครงการที่ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การช่วยเหลือเกษตรกร  คือ  โครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และปาล์ม) และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการทำนา ซึ่งใช้งบประมาณรวม 158,626 ล้านบาท ในปี 2565-2566 


จุดแข็งของโครงการนี้มีการรั่วไหลน้อย และน่าจะมีทุจริตน้อยกว่าโครงการจำนำข้าวทุกเม็ด เนื่องจากรัฐไม่ได้เข้าแทรกแซงการค้าสินค้าเกษตร แต่มีจุดอ่อนคือ เกษตรกรบางส่วนจดทะเบียนเกินโควตาที่รัฐบาลกำหนด เพราะหน่วยงานรัฐไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง  


นอกจากนี้ยังพบว่ามีการอุดหนุนชาวนา 2 โครงการที่ซ้ำซ้อนกันคือ โครงการประกันรายได้และโครงการสนับสนุนค่าบริหารและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ทำให้เกิดภาระการคลังสูงเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันเงินที่อุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกพืช 5 ชนิด เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการผิดวินัยทางการคลัง 


ข้อเสนอสำหรับรัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการยกผลิตภาพของภาคเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงงาน วิเคราะห์จุดอ่อนของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินมาและแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้น แทนการริเริ่มโครงการใหม่โดยไม่ได้ถอดบทเรียนที่ผ่านมา  นอกจากนี้การให้การอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลควรใช้เงินงบประมาณอย่างโปร่งใส หลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณ


ส่วนนโยบาย “การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน”  การประเมินผลนโยบายด้านนี้พิจารณา 2 เป้าหมายหลัก คือ ยกระดับคุณสภาพการศึกษา  และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยหลักสูตรแกนกลางในปัจจุบันถูกใช้มานานเกือบ  15 ปี  จึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 แม้ในช่วงแรก รัฐบาลได้พยายามพัฒนาหลักสูตร  แต่ฝ่ายการเมืองกลับ “ห้าม” นำหลักสูตรไปใช้  ซึ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการปรับหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย


ขณะที่นโยบายด้านบุคลากร ได้ปรับเกณฑ์อัตรากำลังครูให้อิงกับภาระงานสอนมากขึ้น  แต่ยังไม่ได้พัฒนาครูให้สามารถตอบโจทย์การสอนเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มากนัก 


สำหรับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สนับสนุนให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสรรเงินทุนเพิ่มเติมแก่นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ เพื่อลดการออกกลางคันของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเปิดให้ประชาชนสามารถกู้เงินเพื่อเรียนรู้ทักษะในสาขาวิชาที่ขาดแคลนได้ และยกระดับทักษะของตนผ่านหลักสูตรระยะสั้นได้


สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ควร เร่งปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้อิงกับสมรรถนะโดยเร็ว โดยอาจขยายผลการทดลองนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ทั่วประเทศ , ควรปรับระบบการบริหารทรัพยากรด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับปรุงการบริหาร กยศ. ให้มีความยั่งยืนทางการเงินมากขึ้น


สำหรับ ผลงานของรัฐบาลด้านความ “ยั่งยืน”  ด้านการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน  รัฐบาลประยุทธ์ 2 กำหนดให้การต่อต้านทุจริตเป็นวาระแห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี ด้วยงบประมาณด้านต่อต้านทุจริตรวม 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563–2566  ในขณะที่อันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยกลับลดลงจากที่ 96 จาก 180 ประเทศในปี 2560 อยู่ที่อันดับ 101 ในปี 2565 จึงกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปไม่สามารถลดการทุจริตอย่างได้ผล 


อย่างไรก็ตามรัฐบาลประยุทธ์ 2 มีผลงานแก้คอร์รัปชันเป็นรูปธรรม 2 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส โดยร่วมมือกับองค์กรภาคสังคมและภาคธุรกิจขยายการใช้มาตรการ “ข้อตกลงคุณธรรม” (Integrity Pact)  และการ “กิโยตินกฎระเบียบ” (Regulatory Guillotine) ซึ่งเป็นการปฏิรูปกฎระเบียบครั้งใหญ่เพื่อลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อันเป็นต้นตอสำคัญของคอร์รัปชัน 


ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ควรขยายผลข้อตกลงคุณธรรมให้ครอบคลุมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าสูง ควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการขออนุญาตก่อสร้าง  


ด้าน “การคุ้มครองทางสังคม”  ผลงานที่เด่นชัดที่สุดด้านการคุ้มครองทางสังคม (social protection) ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 คือการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งความช่วยเหลือและกระจายเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพกว่าในอดีต 


 อย่างไรก็ดีพบว่ายังขาดนโยบายความคุ้มครองทางสังคมเชิงรุก อีกทั้งรัฐบาลเน้นแนวคิดในการให้สวัสดิการแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ทำให้เกิดปัญหาการตกหล่นคนจนในสัดส่วนสูง  โดยการตกหล่นคนจน (exclusion errors) ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 51 ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และร้อยละ 30 ในโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ทั้งที่ประสบการณ์ทั่วโลกชี้ให้เห็นว่านโยบายแบบเจาะจงจะมีปัญหาการตกหล่นคนจนในสัดส่วนสูงเกือบทั้งหมด


ข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่ควรจัดสวัสดิการที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมระหว่างสวัสดิการเฉพาะกลุ่มและสวัสดิการถ้วนหน้า อีกทั้งควรเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาความยากจนและให้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า ใช้ฐานข้อมูลคนจนหรือผู้สมควรได้รับสวัสดิการระดับพื้นที่  


ด้าน “การแก้ปัญหาแรงงาน”  สำหรับการขึ้นค่าแรงนั้น พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาลเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท และสูงสุดเป็น 425 บาทต่อวัน  ในช่วงที่บริหารประเทศ รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ครั้งในปี  2562 และ 2565 ซึ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นเป็น 328-354 บาทในแต่ละพื้นที่ หรือเพิ่มโดยรวมประมาณร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปีในช่วงเดียวกันและต่ำกว่าที่หาเสียงไว้มาก 


นอกจากนี้ การดูแลสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานของรัฐบาลก็เป็นไปในเชิงรับ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการระบาดของโควิด-19  โดยมาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่มุ่งลดผลกระทบโดยเฉพาะจากการว่างงานในภาคบริการเป็นหลัก


ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้  ประการแรก รัฐบาลควรกำหนดกรอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป้าหมายที่ต้องการโดยให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและผลิตภาพแรงงาน และปรับขึ้นอย่างเป็นระยะเช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี และควรดำเนินนโยบายในเชิงรุกในการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อให้ได้รับสวัสดิการและการคุ้มครองตามกฎหมาย


TDRI ตรวจการบ้านรัฐบาลประยุทธ์ 2


ด้าน “ นโยบายด้านสุขภาพ”   ตั้งแต่ต้นปี 2563 เวลาส่วนใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ใช้ไปกับการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยการรับมือส่วนใหญ่เป็นแบบตั้งรับ และไม่ได้เน้นการบริหารความเสี่ยงโดยเฉพาะในการจัดหาวัคซีน   นอกจากนี้ ในช่วงท้ายรัฐบาลของรัฐบาลประยุทธ 2 มีข่าวแพทย์ลาออกจากภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเรื้อรังในระบบสุขภาพของรัฐ


ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลใหม่ควรยกระดับศักยภาพของระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว ให้สามารถรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และอุบัติภัยต่างๆ 


ละสุดท้ายด้าน “การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม”  พิจารณาจาก 2 เรื่องหลักคือ นโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5   ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้คำมั่นในที่ประชุม COP26 โดยประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และจะเร่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง 


นอกจากนี้ยังเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย แต่อย่างไรตามยุทธศาสตร์และร่างกฎหมายยังขาดความชัดเจนอยู่ ซึ่ง "รัฐบาลใหม่" ควรมีนโยบาย เร่งนำกลไกราคาคาร์บอนมาใช้ เช่น ภาษีคาร์บอนหรือตลาดคาร์บอนภาคบังคับ และเปิดให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบ peer-to-peer รวมไปถึงปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น 


ในส่วนของปัญหา PM2.5 แม้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามข้อเสนอ  โดยไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 


ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ คือ สนับสนุนให้เจ้าของรถปรับเปลี่ยนมาใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยให้มาตรการจูงใจเช่นสิทธิในการลดหย่อนภาษี  ขณะเดียวกับสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรเพื่อลดการเผา รวมไปถึงควรกำหนดให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลการผลิตฝุ่น PM2.5 ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น 


ทั้งนี้ การประเมินนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ และข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลใหม่เป็นเพียงบางส่วนจากนำมาจากที่ทีอีอาร์ไอนำเสนอ แต่ก็ทำให้เห็นภาพว่ามีทั้งนโยบายที่ควรสานต่อและนโยบายที่ควรปรับปรุง เพื่อให้นโยบายมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 

 





ข่าวแนะนำ