โตโยต้ายังครองเจ้าตลาดรถตู้โดยสาร
โตโยต้า เผยยังเป็นเจ้าตลาดรถตู้โดยสาร ครองส่วนแบ่งตลาดที่ 93% เล็งเพิ่มยอดขาย คอมมิวเตอร์ รุ่นใหม่ ในไทย และขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวานนี้
โทชิสึกุ อิจิมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ออโต้ เวิคส จำกัด (TAW) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท โตโยต้า ออโต้ บอดี้ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นและบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ได้ใช้งบประมาณกว่า 2,500 ล้านบาท ในการเปิดสายการผลิตโตโยต้า คอมมิวเตอร์ รุ่นใหม่ในประเทศไทย ที่มีโรงงานตั้งอยู่ที่สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีกำลังการผลิตปีละ 16,000 คัน และมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศในการผลิต 52% ซึ่งโตโยต้าตั้งเป้าหมายการจำหน่ายโตโยต้า คอมมิวเตอร์ไว้ที่ 750 คันต่อเดือนในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาที่มียอดจำหน่ายรุ่นเก่าที่ 650 คันต่อเดือน โดยโตโยต้าเป็นเจ้าตลาดรถตู้โดยสารที่ส่วนแบ่งตลาด 93% ซึ่งมองว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดรถตู้โดยสารเติบโตได้
ส่วนการส่งออกจากโรงงานของทีเอดับบลิวนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า จะมีการส่งออกไปยังตลาดใดบ้าง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจา ประกอบกับรถยนต์รุ่นเดิมก็ยังมีการจำหน่ายอยู่ในบางประเทศ จึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้ขณะนี้ ซึ่งในรุ่นก่อนหน้านี้ที่มีการผลิตในประเทศไทยก็มีการส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม
ขณะที่รถตู้ไฮเอซ รุ่นหลังคาเตี้ยและรถตู้ทึบจีแอล ที่จะเริ่มทำตลาดในประเทศไทยในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จะเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด แทนที่ก่อนหน้านี้จะมีการนำเข้าไฮเอซจากประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมองว่า ตลาดในไทยยังไม่ใหญ่มาก ทำให้ยังไม่มีความคุ้มค่าหากเปิดสายการผลิตในไทย
ทั้งนี้ ตลาดรถตู้โดยสารถือเป็นตลาดหลักที่สำคัญของโตโยต้าเป็นอย่างมาก โดยรถรุ่นก่อนหน้านี้ มียอดจำหน่ายรวมกันทั่วโลกกว่า 6.3 ล้านคัน ขณะที่ประเทศไทยก็มียอดจำหน่ายสะสมในเจนเนอเรชั่นที่ 5 มากถึง 1.78 แสนคัน และประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังเวียดนามอีกปีละ 2,000 คันอีกด้วย
ส่วนตลาดรถมินิบัส ที่โตโยต้านำเข้ารถรุ่นโคสเตอร์มาจำหน่ายด้วยการนำเข้าแบบสำเร็จรูปนน เป็นไปตามความต้องการของตลาดการเดินรถแบบช่องทางประจำ (Fixed route) ที่คาดว่า จะมีส่วนแบ่งตลาดรถโดยสารที่ 7-8% หรือมียอดขาย 50-60 คันต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งโตโยต้ามองว่า โคสเตอร์สามารถตอบสนองความต้องการและนโยบายภาครัฐในเรื่องของการหาสินค้าที่มีความปลอดภัยในการใช้งานได้ แต่มองว่ายอดจำหน่ายดังกล่าวก็ไม่มีความคุ้มค่าในการเปิดสายการผลิตในประเทศไทย จึงตัดสินใจนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยตามที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้
ขณะที่แผนการลงทุนเพื่อเปิดสายการผลิตโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ที่ประเทศเมียนมาร์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งการสร้างโรงงานผลิตที่อาจจะล่าช้า เนื่องจากเข้าช่วงหน้าฝน แต่คาดว่าจะสามารถเปิดสายการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ด้วยเป้าหมายการผลิตปีละ 2,500 คัน ซึ่งประเทศไทยจะทำหน้าที่หลักในการป้อนชิ้นส่วนเพื่อการประกอบให้กับโรงงานแห่งนี้ ขณะเดียวกันวิศวกรของไทยที่เข้าไปมีส่วนร่วมในสายการผลิตจะได้เรียนรู้และได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การที่โตโยต้าตัดสินใจลงทุนในประเทศเปิดใหม่อย่างเมียนมาร์ ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปที่สูงถึง 25% ไม่รวมอัตราภาษีอื่น ๆ ในปัจจุบัน และหากพม่าเปิดประเทศอย่างเต็มที่ อุตสาหกรรมรถยนต์โดยเฉพาะรถปิกอัพ ก็น่าจะเติบโตตามธุรกิจก่อสร้างและท่องเที่ยวด้วย