TNN โอนรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ทำเองได้ง่ายนิดเดียว

TNN

ยานยนต์

โอนรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ทำเองได้ง่ายนิดเดียว

โอนรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ทำเองได้ง่ายนิดเดียว

โอนกรรมสิทธิ์รถไม่ยากอย่างที่คิด

เชื่อว่าหลายคนที่ซื้อรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ ทั้งแบบเงินสดหรือเงินผ่อน รวมไปถึงได้รับเป็นมรดกตกทอดต่อมาจากพ่อแม่ญาติพี่น้องนั้น หากต้องการโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของเราอย่างถูกต้องนั้น จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง มีขั้นตอนยุ่งยากแค่ไหน วันนี้ TNN Motoring มีข้อมูลมานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบเพื่อทำความเข้าใจ  

โอนรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ทำเองได้ง่ายนิดเดียว

หลักฐานที่ใช้การโอนกรรมสิทธิ์

1.ใบคู่มือจดทะเบียนรถ

2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผุ้มีอำนาจลงนาม

3.สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี

4.สำเนาใบมรณะบัตรเจ้าของรถ และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมพร้อมสำเนา (กรณีโอนรับมรดก)

5.แบบคำขอโอนและรับโอน ซึ่งกรอกรายการและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนเรียนร้อยแล้ว

6.หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอง กรณีผู้โอน และ/หรือผู้รับโอนมิได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง

สถานที่โอน คุณสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาที่ผู้โอนมีที่อยู่ปรากฎในใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือที่ขอแจ้งใช้รถไว้

ขั้นตอนการดำเนินการ

1.นำรถเข้ารับการตรวจสอบ ที่งานตรวจสภาพรถยนต์ (ยกเว้นกรณีโอนปิดบัญชีจากผู้ให้เช่าซื้อไปยังผู้เช่าซื้อ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถตามรายการจดทะเบียน ไม่ต้องตรวจสอบรถ)

2.ยื่นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์และชำระค่าธรรมเนียม ที่งานทะเบียนรถ

3.รับใบคู่มือจดทะเบียนรถคืน

4.รับใบเสร็จรับเงิน ใบคู่มือจดทะเบียนรถ เครื่องหมายการเสียภาษี และแผ่นป้าย ทะเบียนรถ

การโอนกรรมสิทธิ์รถต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันโอน (หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท)

ส่วนในกรณีที่ผู้โอนผู้รับโอนหรือผู้ซื้อผู้ขายไม่สามารถมาทำธุรกรรมพร้อมกันได้ ฝ่ายผู้ขายหรือผู้โอนสามารถทำธุรกรรมการโอนรอไว้ได้ จากนั้นมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ใบมอบอำนาจ พร้อมเซ็นชื่อเป็นหลักฐานและมอบให้กับผู้ซื้อหรือผู้รับโอน ‘ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า ‘การโอนลอย’ โดยผู้ซื้อหรือผู้รับโอนสามารถนำหลักฐานเหล่านี้ไปใช้ดำเนินการต่อกับกรมการขนส่งด้วยเองได้ในภายหลัง 

'การโอนลอย' ตามความหมายของกรมขนส่งคือ การที่เจ้าของรถได้ขายรถของตนแล้ว และทำการลงนาม ในเอกสารการโอนรถ และใบมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ โดยมิได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่สำนักงานขนส่ง

เอกสารที่ใช้ในการโอนลอย 

1. สมุดทะเบียนรถ รายละเอียดถูกต้อง และมีลายมือชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตรงกับเอกสารอื่นๆ

2. หนังสือสัญญาซื้อขาย ต้องระบุรายละเอียด วันและเวลารับรถ ลายมือชื่อผู้ขาย – ผู้ซื้อ และพยาน

3. แบบคำขอโอนและรับโอน ต้องลงลายมือชื่อทั้งผู้โอน และผู้รับโอน ให้ถูกต้องตามช่อง ที่ระบุไว้ครบทุกช่อง

4. สำเนาทะเบียนบ้านบัตรประชาชน ต้องเซ็นรับรองสำเนา ให้ถูกต้อง และต้องไม่หมดอายุ

5. หนังสือมอบอำนาจ ต้องมีลายเซ็นของผู้มอบอำนาจ

6. เอกสารเปลี่ยนแปลง เช่นใบเปลี่ยนชื่อ นามสกุล หรือใบหย่า ที่ต้องใช้เปลี่ยนแปลงเอกสารราชการ

7. หนังสืออื่นๆ ในกรณีที่เป็นบริษัท ไฟแนนซ์ ประกันภัย

8. ใบเสร็จต่างๆ ที่ใช้ควบคู่ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายการในทะเบียนรถ

โอนรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ทำเองได้ง่ายนิดเดียว

อย่างไรก็ดีกรมการขนส่งทางบก ก็ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับการโอนลอยมีความเสี่ยง เนื่องจากอาจก่อปัญหาให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น กรณีผู้ซื้อไม่ดำเนินการชำระภาษีรถประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือนำรถไปกระทำผิดกฎหมายซึ่งยังคงปรากฏชื่อเจ้าของรถรายเดิมในระบบทะเบียน สร้างปัญหายุ่งยากให้เจ้าของรถรายเดิม  

นอกจากนี้การไม่นำรถเข้ามาดำเนินการโอนทางทะเบียน ยังทำให้ผู้ซื้อไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของรถได้โดยสมบูรณ์ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่อีกด้วย ส่วนกรณีที่มีการพบข้อมูลทางทะเบียนรถในใบสั่งไม่ตรงกับข้อมูลผู้ครอบครองรถในปัจจุบัน ซึ่งอาจเกิดจากการซื้อขายที่ไม่ได้ดำเนินการทางทะเบียน แต่เป็นเพียงการซื้อขายแบบโอนลอยที่ไม่ได้ยื่นขอดำเนินการเปลี่ยนสาระสำคัญทางทะเบียนให้ถูกต้องกับกรมการขนส่งทางบกด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อหรือผู้รับโอน เป็นไปได้ยอมสละเวลามาดำเนินการด้วยตัวเองพร้อมกับผู้ขายและทำธุรกรรมในจบในคราวเดียว แต่ถ้าไม่สะดวกจริงๆ ควรตรวจสอบรถก่อนการซื้อขายทุกครั้ง รวมทั้งควรเช็คแหล่งที่มาของรถ พร้อมข้อมูลประกอบก่อนตัดสินใจ

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ