แบรนด์ยุโรปในอุ้งมือมังกร
ปัจจุบันบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน ได้เข้าเทคโอเวอร์และซื้อหุ้นจากบริษัทรถยนต์ชั้นนำในยุโรปอย่างต่อเนื่อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 10 ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แถมซ้ำประชากรชาวจีนยังกลายเป็นผู้บริโภคที่มีพลังในการจับจ่ายมากที่สุดเวลานี้ด้วย หลายธุรกิจมีขยายการลงทุนอย่างรวดเร็วพร้อมกับต่อยอดไปยังต่างประเทศ จนสร้างผลกำไรได้มหาศาล เช่นเดียวกับธุรกิจรถยนต์ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้บริษัทรถของจีนมีเงินทุนมากพอที่จะเทคโอเวอร์แบรนด์รถชั้นนำของโลกมาไว้ในครอบครอง
เจ้าของธุรกิจจีนเหล่านี้มองว่าการเทคโอเวอร์หรือซื้อหุ้นบริษัทรถชั้นนำในโลก นอกจากจะได้โนว์ฮาวและเทคโนโลยีบางอย่างที่จีนยังเข้าไม่ถึงมาพัฒนาต่อยอดแล้ว ก็ยังไม่ต้องอัดงบลงทุนเพิ่มกับการสร้างแบรนด์ใหม่ให้เสียเวลา โดยในปัจจุบันธุรกิจของจีนได้เข้าไปเทคโอเวอร์และถือครองหุ้นบริษัทรถยนต์นอกประเทศหลักๆ อยู่ 3 แบรนด์ คือ วอลโว่ เดมเลอร์ โลตัส และเอ็มจี
วอลโว่ แบรนด์รถยนต์ชื่อดังจากสวีเดน เดิมทีธุรกิจของวอลโว่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยในปี 1999 วอลโว่ตัดสินใจขายธุรกิจลูกอย่างวอลโว่คาร์ให้กับฟอร์ดซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์นั่ง ส่วนบริษัทแม่อย่างวอลโว่กรุ๊ปยังคงดำเนินการผลิตรถบัสและรถบรรทุกเหมือนเดิม อย่างไรก็ดีปัจจุบันทั้งสองส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ยังมีสิทธิใช้แบรนด์วอลโว่ในการทำตลาดเท่านั้น
หลังจากที่ฟอร์ดเป็นเจ้าของวอลโว่ได้ประมาณ 10 ปี ก็ต้องมาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงปี 2008-2009 ส่งผลให้บริษัทฯ อยู่ในภาวะระส่ำและเสี่ยงต่อการล้มลาย สุดท้ายฟอร์ดจึงต้องสินใจแก้ปัญหา ด้วยการขายวอลโว่คาร์ให้กับ Zhejiang Geely Holding Group จากประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์แบรนด์จี๋ลี่ ด้วยมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากจี๋ลี่ได้ซื้อกิจการของวอลโว่คาร์แล้ว ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยการเข้าซื้อหุ้นของวอลโว่กรุ๊ป 8.2% จากจากเอบีวอลโว่ โดยมี Cevian Capital เป็นเจ้าของ ด้วยมูลค่าถึง 3,240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แน่นอนว่าการเข้ามาถือครองหุ้นในวอลโว่กรุ๊ปครั้งนี้ มีส่วนผลักดันให้ Geely มีธุรกิจหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะยานยนต์ในเชิงพาณิชย์
เดมเลอร์ เป็นอีกบริษัทรถยนต์ที่จี๋ลี่ใช้เงินกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 285,000 ล้านบาท โดยเข้าซื้อหุ้น 9.69% ของเดมเลอร์ บริษัทผลิตรถยนต์ชื่อดังของเยอรมนี และเป็นบริษัทแม่ของเมอร์ซิเดส-เบนซ์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเดมเลอร์ไปโดยปริยาย โดยการซื้อครั้งนี้ก็มีจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ของเมอร์เซเดส-เบนซ์
โลตัส แบรนด์รถสปอร์ตจากสหราชอาณาจักร หลังจากอยู่ใต้ปีก DRB-Hicom กลุ่มทุนจากมาเลเซีย (เจ้าของแบรนด์รถยนต์ Proton) มาพักใหญ่ ในปี 2017 ที่ผ่านก็มีการเปลี่ยนเจ้าของอีกครั้ง เมื่อ Zhejiang Geely Holding Group ได้เข้าซื้อ Proton อัตราส่วน 49.9% รวมถึงได้ซื้อหุ้นธุรกิจรถยนต์ Lotus ที่ Proton ถือหุ้นอยู่ในอัตราส่วน 51%
เอ็มจี หลักจากปี 2005 เอ็มจี-โรเวอร์ได้ถูกซื้อโดยหนานจิง ออโตโมบายล์ กรุ๊ป (Nanjing Automobile Group) และในปี 2007 ได้ควบรวมเข้ากับบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเอสเอไอซี (SAIC) ซึ่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของพร้อมกับเริ่มผลิตรถยนต์เอ็มจี3 ในประเทศจีน
จากนั้นช่วงปลายปี 2013 SAIC ได้ประกาศจับมือกับ CP ยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจอาหาร ค้าปลีก และเทคโนโลยีของไทย ร่วมทุนตั้งบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (SAIC Motor-Cp Co., Ltd.) เพื่อผลิตและจำหน่ายรถยนต์แบรนด์อังกฤษ เอ็มบุกตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพื่อทำตลาดในไทยและอาเซียน นอกจากนี้ SAIC ยังได้ร่วมทุนกับบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น โฟล์กสวาเกน ของเยอรมนี และ จีเอ็ม–เจนเนอรัล มอเตอร์ ของสหรัฐอเมริกา
ต่อจากนี้ไปต้องคอยดูกันต่อว่าการดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทจากประเทศจีนจะไปในทิศทางใด และมีค่ายไหนที่อนาคตจะโดนกว้านซื้อเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองคือ ข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ จะส่งผลกระทบกับพาร์ทเนอร์สำคัญอย่าง GM หรือไม่ ซึ่งรถหลายๆ แบรนด์จากค่ายนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับการทำตลาดในประเทศจีน