เชียงใหม่ จับมือ องค์กรภาครัฐ และ กรุงเทพโปรดิ๊วส สร้างเครือข่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พิชิตหมอกควัน
จ.เชียงใหม่ จับมือ องค์กรภาครัฐ และ กรุงเทพโปรดิ๊วส สร้างเครือข่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พิชิตหมอกควัน-ฝุ่น PM 2.5
30 ตุลาคม 2566 – จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคพี ภายใต้กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดตัว โครงการ “Partner to Green คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” สนับสนุนคู่ค้าผู้รวบรวมและจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เครือข่ายของบีพีเค ในเขตภาคเหนือ ใช้ข้อมูลจากระบบตรวจสอบย้อนกลับและภาพถ่ายดาวเทียมติดตามการเผาแปลง และร่วมดูแลห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ปลอดการเผาตอซัง
ในงานเปิดตัวโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้ง ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และคู่ค้าพันธมิตรในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมงาน ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ให้ความสำคัญสูงสุดหมอกควันแลทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลัง ในการจัดการสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 และโครงการ “Partner to Green คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” เป็นความร่วมมือขององค์กรเอกชนที่นำเทคโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการตรวจจุดความร้อน เข้ามาช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในภาคการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อจัดการปัญหาฝุ่นละอองในระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายจัดการปัญหาฝุ่นควันในภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนของรัฐบาล และจังหวัดเชียงใหม่
“ปัญหาฝุ่นละออง เป็นปัญหาระดับชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและประชาสังคมผนึกกำลังลงมือทำอย่างจริงจัง อย่างที่บีเคพีริเริ่มโครงการเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
ด้าน นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร บีเคพี กล่าวว่า บีเคพีเป็นบริษัทแรกของไทยที่นำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2559 และเพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีเป็นต้นแบบอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงพ่อค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เข้ามาช่วยดูแลเกษตรกรและแปลงข้าวโพดในห่วงโซ่อุปทานของซีพี โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียม ช่วยลดปัญหาการเผาตอซัง
“บีเคพีจะขยายผลการดำเนินโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2566 นี้ โดยบริษัทฯ จะแบ่งปันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจุดความร้อนในพื้นที่รับซื้อข้าวโพด เพื่อให้คู่ค้าเป็นเครือข่ายติดตามแปลงเพาะปลูกที่ยังมีการเผา หากพบว่าเกษตรกรรายใดมีการเผาแปลง ทางบริษัทและคู่ค้าพร้อมร่วมมือกันเข้าไปดูแล ให้ความรู้และคำแนะนำ เพื่อให้เกษตรกรร่วมมืองดการเผาตอซัง และหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมทดแทน” นายไพศาล กล่าว
ภายในงาน บริษัทฯ ยังร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ และ GISTDA จัดอบรมสัมมนา ถึงสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ... และแนวทางการปรับตัวขององค์กรธุรกิจและภาคประชาชน ตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับควบคู่กับระบบติดตามการเผาแปลง
โครงการ “Partner to Green คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเครือซีพีในสร้างความร่วมมือระหว่างคู่ค้าของบริษัทฯ เพื่อร่วมจัดการกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งเป็นวาระสำคัญของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาขีดความสามารถคู่ค้าพันธมิตรในกระบวนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อโลก และสนับสนุนเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ให้บรรลุเป้าหมาย Net-Zero ในปี 2050