ท่าเรือแหลมฉบัง “จุดเป็น-จุดจบ” หมูเถื่อน
ท่าเรือแหลมฉบัง “จุดเป็น-จุดจบ” หมูเถื่อน
พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์
เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลายพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจาก “หมูเถื่อน” ที่ยังวนเวียนหาช่องทางเข้ามาจำหน่ายในประเทศมีข่าวถูกจับกุมให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในช่วงนี้ เรื่องนี้มีการชี้เป้าหมายไปแล้วโดยเกษตรกร รวมถึงกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับพวกนอกรีด ริลักลอบนำเข้าสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ บ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสุขอนามัยที่ดีของคนไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การปราบปรามถ้าทำอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปีก็น่าจะสำเร็จลุล่วงภายใน 2-3 เดือน แต่นี่ล่วงเลยมาเป็น 10 เดือน ยังไม่สัมฤทธิ์ผล เกิดอะไรขึ้น? ฤาภาครัฐดูดายซื้อเวลาลากยาวจนเกือบสิ้นปี..แสดงว่ามีอะไรในก่อไผ่?
ที่จริงคนทั่วไปก็เดาได้ไม่ยากว่า ช่องทางนำเข้าหมูเถื่อนหลักๆ นั้น คือ ทางทะเล เพราะเป็นการนำเข้าล็อตใหญ่ และมาในลักษณะแช่แข็ง จึงต้องมาในตู้คอนเทนเนอร์แบบปรับอุณหภูมิ เรียกง่ายๆ คือแช่มาในตู้เย็น คงไม่มีใครขนมาทางอากาศให้ต้นทุนเพิ่มแน่...ทางขึ้นบกของหมูเถื่อนจึงต้องเป็น “ท่าเรือ” แน่นอน ก็คือ “ท่าเรือแหลมฉบัง” และ “ท่าเรือคลองเตย” แต่ท่าเรือคลองเตยแออัด และติดปัญหาการจราจรในเมืองไม่คล่องตัว ท่าเรือแหลมฉบังจึงเป็น “จุดเป็น” ของหมูผิดกฎหมายในไทย ที่ช่วงแรกๆ เดินนวยนาดออกจากท่าเรือแบบชิลด์ สำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลทั้งตู้ หรือแอบแฝงมาในตู้ (ตามที่กรมศุลกากรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน) เหมือนล่องหนออกมาดั่งมีอาคมแกร่งกล้า แม้เทคโนโลยีล้ำสมัยยังแพ้พ่ายคาถา “พรางกาย” สแกนส่องอย่างไรก็มองไม่เห็น
หมูเถื่อนรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากบราซิล เนเธอร์แลนด์ และประเทศทางยุโรป ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงได้เหยียบแผ่นดินไทย...จุดนี้ขอถามย้ำกรมศุลกากรแทนเกษตรกรไทย ว่าทำไมจึงตรวจไปพบสิ่งของผิดกฎหมาย หรือ ไม่มีการตรวจสอบกันแน่ จับกันครั้งแล้วครั้งเล่า ดูจากสถิติที่ค้นคว้ามาตั้งแต่มกราคม-พฤศจิกายน 2565 มีการจับกุมทั้งหมดประมาณ 30 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นงานที่กรมศุลกากร นำทีม 5-6 ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นการสืบสวนและติดตามโดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งๆ ที่ด่านนำเข้าสินค้าทุกด่านทั้งทางบก ทางอากาศและทางทะเล เป็นหน้าที่ของกรมศุลกากร ที่มีอำนาจเต็มในการตรวจสอบ จับกุมและดำเนินคดีกับสิ่งของที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรแบบผิดกฎหมาย เข้ารู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง
แหล่งข่าววงในที่เชื่อถือได้ ให้ข้อมูลว่า หลังหมูเถื่อนโดนจับกุมถี่ขึ้นช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน รวม 24 ครั้ง หมูเถื่อนไม่สามารถเดินแถวนวยนาดออกจากท่าเรือแหลมฉบังได้เช่นเคย ต้องตั้งตู้นอนรออยู่ที่ท่าเรือ เสียบปลั๊กตู้เย็นกินไฟไปวันๆ เจ้าของตัวจริงก็พยายามสุดฤทธิ์เพื่อจะเอาสินค้าออกจากท่าเรือ เพราะนานไปกว่านี้คงได้ไม่คุ้มเสีย ตรวจจับกันเข้มข้นวันหนึ่งต้องสาวมาถึงตัวการที่แท้จริงแน่ หรืออาจต้องปล่อยของเน่าคาท่าเรือเพื่อหนีการจับกุม หรือนำนิสัยพ่อค้าวาณิชย์นอกรีดมาใช้ “ยอมจ่าย” พวกนอกรีดด้วยกัน นำสินค้าออกจากท่าเรือให้ได้ ประมาณกันว่าตู้ละไม่ต่ำกว่า 550,000 บาท (ราคาปรับขึ้นตามความถี่ในการจับกุม)
ที่สำคัญหมูเถื่อนเหล่านี้ไม่ผ่านการตรวจสอบเชื้อโรคและสารปนเปื้อนทั้งสารเร่งเนื้อแดงและสารตกค้างอื่น ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนไทยให้ตายผ่อนส่ง ทั้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข มีประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเด็ดขาด หมูไทยจึงมีต้นทุนการเลี้ยงสูงแต่ปลอดภัยกว่าหมูนอก หมูเถื่อนที่ประเทศต้นทางไม่ต้องการและมีโอกาสเป็นหมูติดโรคสูงจึงถูกส่งออกในราคาถูกมากไปขายในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ทำให้กลไกตลาดบิดเบือนและทำลายเสถียรภาพราคาหมูไทย คนอื่นทำร้ายยังไม่เจ็บ เท่ากับคนไทยทำร้ายกันเอง กรมศุลกากรในฐานะข้าราชการไทยต้องทำอะไรสักอย่างไม่คุ้มกับภาษีของประชาชน