เป็นงง...ห้องเย็นหายกว่า 150 โรง ผลผลิตมีเพียงพอ แต่ Shrimp Board ให้นำเข้ากุ้ง
เป็นงง...ห้องเย็นหายกว่า 150 โรง ผลผลิตมีเพียงพอ แต่ Shrimp Board ให้นำเข้ากุ้ง
ประเด็นการนำเข้ากุ้งที่ยืดเยื้อมามากกว่า 2 สัปดาห์ ฝ่ายหนึ่งยืนยันเห็นด้วยกับการอนุญาตให้นำเข้ากุ้ง 10,000 ตัน จากเอกวาดอร์และอินเดีย ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือ “บอร์ดกุ้ง” มีกรมประมงนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ผู้แทนของชมรมหรือสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง และผู้แทนเกษตรกรเลี้ยงกุ้งบางพื้นที่ ห้องเย็นและโรงงานแปรรูป ขณะที่ฟากไม่เห็นด้วย คือ เกษตรกรรายเล็ก-รายกลาง ที่มีจำนวนไม่น้อยแต่ไม่มีโอกาสได้คัดค้านหากพิจารณาข้อมูลที่ตอบโต้กันระหว่าง “บอร์ดกุ้ง” และเกษตรกรบางกลุ่ม มีจุดที่น่าสนใจมากที่ขอยกเป็นวาระในข้อเขียนวันนี้ อ้างถึงข่าวเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานบอร์ดกุ้ง กล่าวว่า จากปัญหาโรคกุ้งทะเล คุณภาพลูกพันธุ์กุ้ง และอาหารกุ้งในอดีต ทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลักต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยู่เกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง ขณะที่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลก็ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตกุ้งของไทยที่เคยสูงสุดในปี 2552 ประมาณ 567,000 ตัน เหลือเพียงประมาณ 255,000 ตัน ในปี 2564 ซึ่งลดลงร้อยละ 55.03 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้รับมอบนโยบายให้ดำเนินการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย และแต่งตั้ง Shrimp Board เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้กุ้งทะเลกลับมามีผลผลิตในระดับ 400,000 ตัน ภายในปี 2566
ทุกประโยคมีนัยในตัวเอง จากข่าวดังกล่าวอยากจะชี้ให้เห็น 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1. การยอมรับว่าโรคระบาด ส่งผลกระทบในห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งผลอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย อันนี้เป็นความจริงที่ยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย คำถาม คือ ผ่านไปมากกว่า 10 ปี โรคก็ยังคงระบาดอยู่และหนักกว่าเดิม ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่า “ไทยเดินถอยหลัง” ไม่มียารักษา ไม่มีรูปแบบหรือระบบฟาร์มที่ป้องกันโรคระบาดได้ ไม่มีงานวิจัยสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งมีให้อัตรารอดสูง
2.ข้อมูลท่านอธิบดีฯ กล่าวว่า ปัจจุบันห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลปิดตัวไปจากที่มี 200 แห่ง เหลือ 20 แห่ง เท่ากับหายไป 90% ที่สำคัญกรมฯ รับทราบว่ากิจการห้องเย็นหายไปเท่าไร แต่กลับไม่มีตัวเลขจำนวนเกษตรกรที่ชัดเจน ทั้งที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักโดยตรงของกรมฯ คือ การพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่จะต้องเร่งดำเนินการ และถ้าห้องเย็นหายไปเกือบหมด ผลผลิตกุ้งที่ไทยมีอยู่ ควรเพียงพอต่อความต้องการแปรรูป จึงไม่ควรอนุญาตให้นำเข้ากุ้ง
3.แผนฟื้นฟูทำไมเพิ่งมาเริ่มทำตอนนี้ ควรจะเริ่มทำตั้งแต่ปี 2552 หรืออย่างช้าก็ควรจะปี 2553 ไฉนลากยาวมาจนถึงจัดตั้ง Shrimp Board สำเร็จและเริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ในปี 2564
ฟากผู้เลี้ยงกุ้งตัวจริงเสียงจริงอย่าง ปรีชา สุขเกษม ทำฟาร์มกุ้งในจังหวัดสงขลา ที่เคยออกมาคัดค้านการนำเข้า บอกว่า ขณะนี้ราคากุ้งกำลังอ่อนตัวและตกต่ำอย่างรวดเร็ว หลัง Shrimp Board อนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย โดยอ้างมีการประกันราคาขั้นต่ำช่วยอยู่ แต่หน้าฉากตั้งราคาขั้นต่ำเท่าต้นทุนบนเงื่อนไขคุณสมบัติกุ้งขั้นนางฟ้า คาดเกษตรกรรายกลาง-รายย่อยขาดทุนยับ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองกับห้องเย็น เนื่องจากเงินทุนเวียนมีน้อยต้องเร่งจับกุ้ง ขายได้ราคาเท่าไรก็ต้องยอม และในความเป็นจริงแล้ว กุ้งไทยยังพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก ไม่จำเป็นต้องนำกุ้งจากต่างชาติเข้ามา เพราะการนำเข้ากุ้งเป็นการรุกรานอาชีพเกษตรกรไทย ประเด็นนี้กรมประมงและกระทรวงเกษตรฯ น่าจะรู้ดีว่าการสนับสนุนซื้อกุ้งต่างชาติจะเป็นผลลบกับเกษตรกรไทย
แท้จริง ไทยมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศมาหลายปีแต่ไม่เป็นที่เปิดเผย ห้องเย็นและคนในวงการรับทราบกันเป็นการภายใน เพราะกุ้งไทยแพงทำให้ต้นทุนสูง แปรรูปเพื่อส่งออกได้กำไรน้อย ยิ่งช่วงไหนกุ้งขาดห้องเย็นและโรงงานแปรรูปวิ่งวุ่นขาขวิด แย่งซื้อกุ้งป้อนกระบวนการผลิตเป็นโอกาสให้กับผู้เลี้ยงกุ้งไทยช่วงสั้นๆ เมื่อความลับถูกเปิดเผยถึงหูเกษตรกรจึงมีแรงต้านเพราะผลผลิตไทยมีแต่ไม่หาซื้อ อย่าทำร้ายคนไทยกันเองและเชิดชูต่างชาติให้มานอนกินบนความทุกยากของคนไทยแบบนี้